กรมชลฯ เร่งกักเก็บน้ำฝนให้มากที่สุด หลังอุตุฯ เตือนมิ.ย.–ก.ค.63 อาจเกิดฝนทิ้งช่วง
กรมชลฯ เร่งกักเก็บน้ำฝนให้มากที่สุด หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนช่วงมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ อาจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤษภาคม 2563 ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(25 พ.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,501 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 9,839 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 42,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,124 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,428 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (25 พ.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 711 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้
ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 1.07 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 0.67 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่) แม้ว่าขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรควรเพาะปลูกพืชเมื่อมีปริมาณน้ำในพื้นที่ของตนที่เพียงพอ หรือมีปริมาณฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และขอให้เก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ของตนด้วย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 63 อาจมีฝนน้อยหรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องอาศัยน้ำฝนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้การเกษตรสำหรับพืชต่อเนื่องบางส่วน จะมีเพียงทุ่งบางระกำที่ส่งน้ำให้ทำนาปีได้ เนื่องจากปรับปฏิทินการเพาะปลูกเร็วขึ้น เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวรองรับน้ำหลาก การบริหารจัดการน้ำจึงต้องทำอย่างรัดกุม ควบคุมระบายน้ำให้อยู่ในแผนและสอดคล้องกับสถานการณ์ให้มากที่สุด รวมไปถึงการรับน้ำเข้า 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก จะรับน้ำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยายังคงต้องระบายน้ำลงมา เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกับลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีนมาช่วยเสริมอีกทางหนึ่งด้วย