'กรมประมง' ชงทางแก้ข้อพิพาท 'อ่าวบ้านดอน' เสนอเขตอนุญาตเลี้ยงหอยถูก ก.ม.
"กรมประมง" ชงทางออก แก้ข้อพิพาท "อ่าวบ้านดอน" เสนอเขตอนุญาตเลี้ยงหอยถูกกฎหมาย หลังพบหอยแครงเพิ่มขึ้นในอ่าวสูงขึ้นในรอบ 3 ปี เนื่องจากสภาพน้ำทะเลที่เหมาะสม
จากกรณีพิพาทระหว่างชาวประมงพื้นบ้านนับร้อยและนายทุนเลี้ยงหอยแครงในบริเวณอ่าวบ้านดอน ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นพื้นที่ชายฝั่งสาธารณะของจังหวัดสุราษฏร์ธานีนั้น ทางกรมประมงเสนอแนวทาง บริหารจัดการทรัพยากรหอยแครง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีหอยแครงอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
โดยนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คือ การบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายในการจัดการแปลงหอยที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวประมง
นอกจากการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอย่างจริงจังแล้ว ทางกรมประมงเห็นว่าสามารถใช้กลไกของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหอยทะเล โดยประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อนุญาตเลี้ยงหอยตามขั้นตอนต่อไป โดยการให้สิทธิกับชาวประมงพื้นบ้านในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน
และท้ายสุด เห็นควรกำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำห้ามทำการประมงอย่างถาวร โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์หอยแครง
“ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะของอ่าวบ้านดอนได้อย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อร่วมกันสร้างผลผลิตให้ทรัพยากรหอยแครงคงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายมีศักดิ์กล่าว
จากข้อมูลของกรมประมง พื้นที่ชายฝั่งทะเลของอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเขตอำเภอเมือง และอำเภอพุนพิน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกิดและแพร่ขยายพันธุ์ของหอยแครง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำ ลำคลองหลายสายได้ไหลมาบรรจบ และได้นำพาแร่ธาตุอาหารไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติอย่างมาก
ลูกหอยแครงจึงมักเกิดขึ้นในบริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วงหน้าแล้งหากมีฝนตกหลายวัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเล ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้หอยแครงมีการวางไข่และผสมพันธุ์ และหากในปีใดน้ำทะเลมีความเค็มสูง (สูงกว่า 25 ppt) ลูกหอยก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของกรมประมงพบว่า ในบริเวณอ่าวบ้านดอนมีลูกหอยแครงเกิดปริมาณมากขึ้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีที่ผ่าน ๆ มาน้ำทะเลมีค่าความเค็มต่ำ แต่ในปีนี้ น้ำทะเลในอ่าวบ้านดอนกลับมีความเค็มสูงกว่าทุก ๆ ปี ประกอบกับก่อนช่วงที่ลูกหอยจะเกิด ยังมีฝนตกลงมา 3-4 ช่วง ๆ ละ 3-4 วัน ทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสลับกับน้ำเค็มจัด จึงกระตุ้นให้หอยแครงผสมพันธุ์ และวางไข่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
จากการรายงานของผู้สื่อข่าวในพื้นที่พบว่า ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านสามารถเก็บหอยแครงในอ่าวได้ถึง 10 กก.ต่อวัน สร้างรายได้เกือบหมื่นบาทในแต่ละครั้ง ทำให้เกิดปรากฎการณ์คนทั้งในพื้นที่และต่างถิ่นไปจับหอยแครงกันเป็นจำนวนมากเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงโรคไวรัสโควิด 19 ระบาด ปัจจุบันราคาหอยแครงอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 200-250 บาท
ภาพ/จรูญ ทองนวล