อีกความหวัง 'วัคซีนโควิด-19'ไทยทำ พัฒนาใช้ใบยาสูบ
แพทย์จุฬาฯ เผยอีกความหวังวัคซีนโควิด-19ไทยทำ ใส่รหัสพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปในต้นใบยาสูบเพื่อสั่งให้มีการผลิตโปรตีนพิเศษป้องกันโควิด-19 ทดลองในลิงได้ผลดี
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศไทย ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผลิตจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่ไม่ใช่ชนิดเดียวกับใบยาสูบที่มีการนำไปทำบุหรี่ ทั้งนี้ การพัฒนามีการใส่รหัสพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปในต้นใบยาสูบเพื่อสั่งให้มีการผลิตโปรตีนพิเศษป้องกันโควิด-19 แต่ภายใน 1 สัปดาห์ก็สร้างโปรตีนขึ้นมา จากนั้นนำใบยาสูบดังกล่าวมาสกัดโปรตีนอีกครั้ง เมื่อมีการนำไปฉีดในหนูทดลอง และลิงทดลอง2 เข็มพบว่าสามารถตระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้ในระดับสูง ประสิทธิภาพเทียบเคียงกับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ที่คณะแพทสศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังดำเนินการอยู่
“ผลการทดลองในลิง ด้วยการฉีดสองเข็มห่างกันสามสัปดาห์ และลิงมีความปลอดภัยไม่ปรากฏมีผลข้างเคียง ผลเลือดในลิง ค่าเอนไซม์ตับปกติ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ ลิงมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมาก สามารถยับยั้งเชื้อไวรัส และที่เก๋คือปกติการจะดูว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่นั้น จะดูที่น้ำเหลือง แต่การฉีดวัคซีนนี้ในลิงพบว่าตอบสนองต่อไวรัสได้อย่างดีตั้งแต่ในระดับเซลล์ แสดงว่าวัคซีนกระตุ้นได้ 2 ทางเลยคือกระตุ้นทั้งระดับเซลล์ และระดับน้ำเหลือง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ขณะนี้ยังไม่ได้ทดลองในคน เพราะถ้าจะนำไปทดลองในคนได้ ต้องทำให้โปรตีนดังกล่าวมีความบริสุทธิ์สำหรับคนก่อน ซึ่งต้องมีโรงงานสกัดที่ทำให้โปรตีนบริสุทธิ์สำหรับคน ปัจจุบันมีอยู่หลายแห่ง แต่ก็ยังไม่สามารถประสานความร่วมมือกับโรงงานในประเทศไทยได้ หากได้เมื่อไหร่ก็สามารถผลิตภัณฑ์วัคซีนตัวนี้ภายใน 3 เดือน และนำสู่การทดลลองในคนต่อไป ซึ่งก็ต้องแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกจะดูเรื่องความปลอดภัย ใช้อาสาสมัครไม่มาก ประมาณ 10-15 คน เป็นคนสุขภาพดี เมื่อมีความปลอดภัยก็เข้าสู่ระยะที่ 2 เพิ่มอาสาสาสมัครขึ้น เพื่อดูความปลอดภัย และปริมาณที่เหมาะสม ก่อนเข้าสู่เฟส 3 ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างหลายร้อยถึงหลักพันคน
เรื่องนี้ได้นำเสนอให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขทราบแล้ว จากนี้จะส่งเรื่องไปยังคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงส่งเรื่องให้ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อร่วมกันพิจารณาผลักดันวัควซีนดังกล่าวออกมา เพื่อใช้ในประเทศไทยด้วย ตอนนี้ยังไม่ทราบว่านายอนุทิน มีความเห็นอย่างไร
การพัฒนานี้เป็นความร่วมมือกันของบริษัทสตาร์ทอัพ ในประเทศไทย และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดมทุนจากศิษย์เก่าจุฬาฯ โดยยังไม่มีภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ทางผู้พัฒนาและคณะเภสัชฯ อยู่ระหว่างมองหาความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ และขณะนี้เองมีบริษัทเอกชนเจ้าใหญ่ๆ ประสานเข้ามาเพื่อเดินหน้าวิจัยและผลิตต่อ มีแม้กระทั่งบริษัทก่อสร้าง ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นบริษัทอะไรเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นนี้ ทางคณะผู้วิจัยอยากให้เป็นสมบัติของคนไทย เพราะหากสำเร็จจะได้มีวัคซีนใช้ในราคาถูก เพราะเราไม่ต้องไปเสียค่าสิทธิบัตรอะไรเพิ่มเติม เทคโนโลยีที่ทำอยู่สามารถขยายการปลูกใบยาสูบชนิดพิเศษนี้เพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้นส่วนตัวมองว่ารัฐต้องเข้ามาสนับสนุนด้วย