พัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ต้องทำบนพื้นฐานงานวิจัย
TSQP ยกระดับคุณภาพ รร.10 จังหวัดภาคเหนือ 185 แห่ง ปักธงลดความเหลื่อมล้ำ - สร้างความเสมอภาค สพฐ. ย้ำ การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ต้องทำงานบนพื้นฐานงานวิจัย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ : ภาคเหนือ" ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) รุ่น 2 หรือ "โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง" มีเป้าหมายให้โรงเรียนพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ (Whole School Approach)
ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ในครั้งนี้มีผู้บริหารและครูกว่า 680 คน จากโรงเรียนขนาดกลางพื้นที่ภาคเหนือ 185 แห่ง ใน 10 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วม ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า การมาร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียน ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้โรงเรียนได้ทั้งระบบ โดยผู้บริหาร ครู บุคลากรของโรงเรียนละ3คน เป็นตัวแทนมาประชุมร่วมกันเป็นเวลา 2 วัน จึงถือเป็นโรงเรียนแกนนำที่มาทำงานมุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ และวงการศึกษาไทย โดยโครงการนี้ จะเลือกโรงเรียนตามเป้าหมายร้อยละ10 ของโรงเรียนขนาดกลางทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณเกือบ 8,000 แห่ง
ในปีแรกทำได้ 290 โรงเรียน ปีที่สองอีก 433 แห่ง โดยมีทีมพี่เลี้ยงช่วยเป็นโค้ชช่วยหนุ่นเสริมการพัฒนาโรงเรียนทั้งหมด 11 เครือข่าย มีเป้าหมายที่เหมือนกันคือร่วมกันปรับปรุงโรงเรียนเหล่านี้ให้มีคุณภาพ สามารถยกระดับคุณภาพเด็กไทยให้สูงขึ้น นั่นจึงหมายความว่า พลเมืองไทยในอนาคตจะมีคุณภาพสูงขึ้น และทุกๆ ท่าน ณ ที่นี้จะเป็นผู้นำที่ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมี กสศ. และทีมพี่เลี้ยง11เครือข่ายร่วมทำงานกับโรงเรียน นี่คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของ กสศ. ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วย
“เป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียน 10% เพื่อหวังว่าจะขยายผลได้อีก 90% ของโรงเรียนขนาดกลางให้เกิดการเปลี่ยนแลงไปด้วย เพราะเป็นโรงเรียนที่มีความหมายมากสำหรับเด็กที่ขาดแคลนและด้อยโอกาส เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแรงในวงการศึกษาไทย โดยหัวใจสำคัญที่ต้องการเห็น คือ การศึกษาที่เด็กได้รับการพัฒนาครบทุกด้าน ไม่ใช่รู้วิชาเพียงส่วนเดียว และครูต้องไม่ใช่ครูสอนวิชา แต่ต้องเป็นครูสอนศิษย์ หัวใจคือลูกศิษย์ไม่ใช่วิชา ซึ่งนี่เป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งของโครงการนี้ โดยทุกๆ คนจะเป็นผู้ที่ทำให้เกิด School Transformationเพราะจะเป็นการเปลี่ยนจากโรงเรียนสอนเด็กเป็นโรงเรียนของเด็ก” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวย้ำว่า การประชุมเป็นการทำงานร่วมกันไปข้างหน้า เพื่อทำให้เกิด school transformation จากฐาน โดยโรงเรียนเป็นผู้ลงมือทำ ทาง กสศ. เป็นเพื่อน ช่วยใส่กลไกและมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ทุกๆ ท่านทำได้ด้วยตนเอง เพราะโรงเรียนที่เราอยากเห็น คือ โรงเรียนที่ไม่ใช่เด็กมีความสุขในการเรียนรู้อย่างเดียวแต่ครู ผู้บริหารต้องมีความสุข มีความมั่นใจ ความภูมิใจในการทำหน้าที่ ผู้ปกครองมีความสุขและมั่นใจว่าลูกของเขาจะได้รับการปูพื้นฐานที่ดี จึงเป็นเป้าประสงค์ ย้ำว่าไม่ใช่ กสศ. และทีมพี่เลี้ยง เป็นผู้ทำ แต่โรงเรียนเป็นผู้ทำเองโดยนัยยะสำคัญ ในปีที่สองนี้อยากเห็นบางโรงเรียนที่นำเทคนิควิธีบางส่วนของพี่เลี้ยงมาประยุกต์ ปรับให้เป็นความคิดรู้ตามบริบทของตัวเอง เป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ออกมาจากการทำงานร่วมกัน
ดร. กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.ตั้งใจและเต็มที่ในการทำงานร่วมกับ กสศ. 100% จึงขอให้โรงเรียนสังกัดของ สพฐ.ที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เดินหน้าอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สพฐ. ได้ให้นโยบายกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์ รวมถึงสำนักต่างๆ ในส่วนกลาง ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงเรียนที่เข้าร่วมกับ กสศ. โดยขอให้พิจารณานำสิ่งที่ทับซ้อนกับโครงการนี้ออกให้หมดหรืองานใดที่บูรณาการร่วมกันได้ก็ขอให้ทำ ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มอบหมายศึกษานิเทศก์อย่างน้อย 1 คน รับผิดชอบและไปศึกษาให้เข้าใจถึงเจตนารมย์ ทิศทาง ของโครงการ และสนับสนุนร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งสำคัญคือจะเป็นการทำงานบนพื้นฐานงานวิจัย (Based of Research) โดยใช้หลักวิชาเป็นตัวนำ เพราะโครงการนี้ ถือเป็นงานวิจัยที่นำชีวิตนักเรียนเป็นเดิมพัน เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังเขตพื้นที่ทุกแห่ง ศึกษานิเทศก์ให้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน
“เมื่อ กสศ. เครือข่าย สถาบัน หรือองค์กรต่างๆ เคลื่อนออกไปแล้ว จะทำอย่างไรให้โรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้ได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไม่ว่าครู หรือผู้บริหารโยกย้ายต้องเรียนรู้การทำงาน จัดการศึกษาที่ดีสอดคล้องกับบริบทมุ่งให้เกิดความเสมอภาค และไม่ยึดติดกับวิธีการแบบเดิมๆเพราะการศึกษาที่ดีอาจจะไม่มีวิธีการใดที่ถูกต้องเสมอหรือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากบริบทต่างกันต้องปรับให้สอดรับเหมาะสม และสามารถปรับปรุงได้ตลอดเวลา และทฤษฎีเป็นเพียงแนวความคิด เครือข่าย สถาบันที่เข้ามาจะเป็นเพียงพี่เลี้ยง โดยทำหน้าที่โค้ชที่ไม่ใช่การบอก หรือสั่ง แต่จะทำให้ครูได้เรียนรู้ ลองวิธีต่างๆ รวมถึงศึกษานิเทศก์ ต้องฝึกฝนตัวเองเป็นโค้ช เพื่อไปทำหน้าที่ (Coaching) ให้โรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ที่ดูแลให้เกิดการกระตุ้นการเรียนรู้ขึ้นในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ไม่ต้องกังวลว่าโครงการนี้จะเดินผิดทาง เพราะ สพฐ. รับรู้และอยากให้ทุกท่านทำอย่างมั่นใจ ทำงานบนพื้นฐานงานวิจัยจริงๆ เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม" ดร.กวินทร์เกียรติ กล่าว