"กสศ."แนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างพาเด็กพ้น "วังวนความยากจน"
"กสศ."เปิดตัวเลขเด็กยากจนพิเศษปี 2/2563 กว่า195,558 คน พบมีรายได้เฉลี่ย1,021 บาท/เดือน หรือประมาณ 34 บาท/วัน พร้อมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมใช้ฐานข้อมูลครัวเรือนกลุ่มยากจนที่สุดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างพาเด็กพ้นวังวน "ความยากจน"ข้ามชั่วคน
วันนี้ (16 มี.ค.2564) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ "กสศ." จัดแถลงข่าว "รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาคเรียนที่2/2563 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย" ระบุ ว่าจากสถานการณ์"โควิด 19"ส่งผลกระทบต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ของ "กสศ." ในปีการศึกษา 2/2563 เพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีการศึกษา 1/2563 ซึ่งในปีการศึกษา 2/2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เข้ามา 195,558 คน โดยยอดรวมตั้งแต่เริ่มเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค เมื่อปีการศึกษา 2/2561
ครบ 3 ปีการศึกษา "กสศ." ให้การช่วยเหลือ "เด็กยากจนพิเศษ" แล้ว 1,173,752 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด พบว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีอัตราลดลง 5% ภาคเรียนการศึกษา 2/2563 อยู่ที่ 1,021 บาท/เดือน หรือประมาณ 34 บาท/วัน ลดลงจากภาคการศึกษา 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ 1,077 บาท/เดือน โดยแหล่งที่มาของรายได้ยังมาจากเงินเดือนและค่าจ้าง สวัสดิการจากรัฐ/เอกชน และการเกษตร ขณะที่สมาชิกครัวเรือนอายุ 15-65 ปี ว่างงานที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาอยู่ที่ 31.8% และเป็นผู้ปกครองที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 32%
- แนะใช้ข้อมูลเชิงลึกขจัด "ความยากจน" ข้ามชั่วคน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกสศ.และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวว่าจากการทำงานร่วมกับคุณครูทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน ในสถานศึกษา 3 สังกัดคือ สพฐ. อปท.และตชด. เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็กนักเรียนเป็นรายบุคคลทำให้ "กสศ." มีข้อมูลเชิงลึกของครัวเรือนที่ยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ
ที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กับหน่วยงานรัฐทั้ง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินมาตรการแก้ปัญหา "ความยากจน" และ "ความเหลื่อมล้ำ" ตลอดจนการนำข้อมูลไปให้หน่วยงานต้นสังกัดที่ดูแลนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นสพฐ. อปท. และ ตชด. ใช้ในการพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวมากกว่า 1.7 ล้านคน
"ด้วยข้อมูลเชิงลึกรายภาคเรียนการศึกษาที่กสศ. จัดเก็บ ทำให้สามารถจับชีพจรวัดความเหลื่อมล้ำรายพื้นที่ พร้อมทั้งมีข้อมูลเชิงลึกถึงระดับตำบลหมู่บ้านที่หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาฟื้นฟูประเทศหลังผลกระทบโควิด-19 ตลอดจนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศในเชิงโครงสร้าง" ดร.ไกรยส กล่าว
การรู้ถึงรายละเอียดกลุ่มเป้าหมายที่ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการลด "ความเหลื่อมล้ำ" และนำไปสู่การช่วยเหลือที่ไม่ใช่แค่ตัวเด็กนักเรียน แต่เริ่มนำร่องให้การช่วยเหลือถึงครอบครัวผู้ปกครอง เพื่อขจัด "ความยากจน"ข้ามชั่วคน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของ "กสศ."
- สร้างพื้นที่ภาวะสมองเต็ม ผ่านพ้นโควิด 19 และความยากจน
ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า เด็กไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ม่านกั้นการเรียนรู้ (Pandemic Wall) หรือ ภาวะที่ต้องเจอโรคระบาด เด็กจะเริ่มรู้สึกเหนื่อย เบื่อ จากการที่ชีวิตถูก Disrupt โดย "โควิด 19" พร้อมกับเกิดภาวะสมองเต็ม หรือ Cognitive Overload ซี่งเกิดจากสมองส่วน Working Memory เต็มเพราะความเครียดเกิดการเบื่อ ขาดสารอาหาร พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สมาธิหาย เรียนไม่รู้เรื่อง
หลายคนจึงมีปัญหาเรื่องการจัดการตัวเองโดยไม่รู้จะสื่อสารความรู้สึกกดดันวิตกกังวลออกมาอย่างไร ปัญหานี้ผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยพูดคุยกับเด็กๆ ถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ "โควิด 19" และควรเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่าถึงความรู้สึก ความกังวล ของตัวเด็กที่เกิดขึ้นได้
ขณะที่ ช่วงโค้งสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์จะถึงการสอบและปิดเทอมใหญ่ ช่วงเวลานี้เด็กจะต้องรับเนื้อหาการเรียนที่หนักและเยอะกว่าปกติ มีทั้งการสอบปลายภาคและการสอบในระดับที่สูงกว่านั้น ในภาวะที่เด็กต้องเผชิญปัญหาม่านการเรียนรู้อย่างนี้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ท้ายที่สุดเด็กจะมีภาวะความเครียดเกินกว่าจะรับได้ เกินกว่าที่ผู้ปกครองจะรับได้ แล้วจะมีผลต่อการจัดการอารมณ์และความวิตกกังวลต่อไปในระยะยาว
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองและครูต้องสร้างพื้นที่ให้เขาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาวะตรงนี้ แล้วช่วยให้เด็กเยาวชนของเรามีโค้งสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถทำให้เด็กบริหารจัดการความเครียดและเนื้อหาวิชาที่ต้องรับเข้าไปในช่วงนี้ให้ได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้ในที่สุด
ในเทอม 2/2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มของนักเรียนยากจนพิเศษและยากจนยังเพิ่มขึ้นอยู่ในประเทศไทย แม้ว่าเป็นอัตราเพิ่มที่ลดลงแล้ว แต่ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ รายได้ครัวเรือน อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ ปัญหา "โควิด 19" ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
โดยเฉพาะเชิงคุณภาพที่การเปิดผลวิจัยทำให้เราเห็นว่าปรากฏการณ์ COVID Slide หรือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้มีอยู่จริงในประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย เราจึงต้องนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาร่วมกันคิด และหาทางออกว่าเราจะช่วยให้เด็กเยาวชนของไทยเกือบ 10 ล้านคนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากในปีการศึกษานี้ไปได้อย่างไร ที่จะไม่มีผลกระทบในระยะยาวต่อตัวเด็กและต่อครอบครัว
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า 60% ของผู้ปกครองมีรายได้ลดลง รวมทั้งมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแลมากขึ้น และจำนวนมากต้องออกจากงาน นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มผู้ปกครองที่สามารถปรับตัวได้ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ได้ต้องกลับภูมิลำเนา
ที่ผ่านมา "กสศ."ได้เข้าไปช่วยเหลือภายใต้โครงการ "ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน" ส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการ เกิดการรวมกลุ่ม ทำให้เขามีรายได้ที่สูงขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้นจากหลักสูตร แต่เริ่มจากให้กลับไปสำรวจ ในหมู่บ้านว่ามีฐานทรัพยากรอะไร มีศักยภาพอะไร และค่อยพัฒนาส่งเสริมในสิ่งเหล่านั้นโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
"ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ต.หนองสนิท จ.สุรินทร์ ที่ทางอบต.ลงไปเก็บข้อมูล ดูต้นทุนในพื้นที่และยกระดับอาชีพ พบว่าการเกษตรที่ใช้สารเคมีเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เราชวนเขามาทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านไป 6 เดือนเขาสามารถขายในท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต แม้ในช่วง COVID-19 ได้รับผลกระทบก็ขยับไปทำดีลิเวอรี่( delivery) เสริม ด้านหนึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเอง1,800 บาทอีกด้านก็ช่วยเพิ่มรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน" น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
การดำเนินโครงการยังพบว่าการที่พ่อแม่มีรายได้สูงขึ้นช่วยทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย จากกลุ่มตัวอย่างที่หนองสนิท 100 คน เป็นพ่อแม่ของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ 30 คน จากเดิมที่ครอบครัวยากลำบากทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น การช่วยเหลือจึงต้องช่วยทั้งสองด้านทั้งช่วยพ่อแม่ และช่วยเด็กๆ โดยขณะนี้ทางกสศ.กำลังจะพัฒนาโมเดลช่วยเหลือเด็กออกจากความยากจนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายต่อไป
- หนุนครูตัดสินใจ เลือกสอนอะไร อย่างไรในห้องเรียน
พอล คอลลาร์ด นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต และนักปฏิรูปการเรียนรู้ระดับโลก ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์หลังเปิดเรียนเนื่องจากสถานการณ์ "โควิด 19" มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องปิดเรียนไปเกือบ 3 เดือนเต็ม
ดังนั้น การศึกษาจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้โรงเรียนและผู้เรียนได้ร่วมกันมองหาวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม โดยอาจมีทั้งการสอบหรือการวัดผลด้วยวิธีอื่นร่วมกัน เช่นการประเมินจากผลงานของนักเรียน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางเลือกไหนที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องช่วยหาทางออกสำหรับเด็กทุกกลุ่มร่วมกัน
ทำให้เรารู้ว่ามีเด็กมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ดังนั้นการจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามเด็กอาจยังไม่เข้าใจวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง เนื่องจากเขาไม่เคยได้รับการเตรียมตัวให้พร้อมมาก่อน ทำให้เรามองเห็นโอกาสอีกมากที่จะได้มองและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า วิชาการหรือสิ่งที่เรียนรู้ในหลักสูตรเหล่านี้มีความจำเป็นต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน เราจำเป็นต้องเรียนจริงๆ หรือไม่ และบทเรียนที่สำคัญเราได้เรียนรู้จากโควิด-19 ก็คือการปฏิรูปบ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว "กสศ." มีความตั้งใจจะนำบทเรียนนี้มาสู่การบูรณาการการทำงานทั้งครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 ข้อเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ ได้แก่
1.บูรณาการข้อมูลสถานการณ์ความยากจนรายครัวเรือนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจนในระยะยาว
2.บูรณาการงบประมาณและทรัพยากรระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจน ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทยมากกว่า 40 มาตรการที่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน
3.แก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ครัวเรือนเป็นฐาน(Household-based Anti-poverty Intervention) ในการดำเนินการมาตรการต่อเนื่อง 5-10 ปี
4.แก้ไขปัญหาภาวะ COVID Slide และ Pandemic Wall ในประเทศไทย เพื่อป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อพัฒนาการของเด็กเยาวชนในระยะยาว
5.Build Back Better ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยกลับมาสู่เส้นทางของการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งวสหประชาชาติหรือ SDGs ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า