เปิดที่มา ‘วันครอบครัว’ พร้อมสำรวจครอบครัวไทยยุค 'โควิด-19'
รู้จักที่มา ‘วันครอบครัว’ ที่ตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี และอยู่ในช่วงเทศกาล "สงกรานต์" ของไทย พร้อมสำรวจสถานการณ์ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19 ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง?
14 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นหนึ่งในวันสงกรานต์แล้ว ยังถูกกำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” อีกด้วย โดยถูกบัญญัติไว้ควบคู่ไปกับเทศกาลปีใหม่ไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักความสำคัญของ "วันครอบครัว" พร้อมเช็คสถานการณ์ครอบครัวไทยยุค "โควิด-19" ว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
- 14 เมษายน ทำไม? ถึงกำหนดให้เป็น “วันครอบครัว”
วันครอบครัว 14 เมษายน ถูกบัญญัติขึ้นมาในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 หลังจากที่คณะกรรมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชนว่า ปัญหาครอบครัวในปัจจุบันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ขึ้น
จึงเห็นสมควรให้มีการจัดวันครอบครัวขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักในความสำคัญของครอบครัว และช่วยกันสร้างครอบครัวให้เกิดความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ การที่กำหนดวันครอบครัวให้ตรงกับช่วง "สงกรานต์" ก็เพราะว่าในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิด และร่วมกิจกรรมตามประเพณีกับครอบครัว
- 15 พฤษภาคม “วันครอบครัว” สากล
ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทย แต่ในระดับสากลก็มีการบรรจุ “วันครอบครัว” ไว้เช่นกัน เริ่มจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 15 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันครอบครัวสากล (International Day of Families) เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของครอบครัว เพราะเชื่อว่าสังคมที่ดีควรเริ่มต้นมาจากครอบครัวที่อบอุ่น โดยให้แต่ละประเทศจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น
- สำรวจ “ครอบครัวไทย” ในยุค “โควิด-19”
มีผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชน “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,184 คน พบว่า ปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุดในช่วงโควิด-19 คือ
- ร้อยละ 75.41 ปัญหา"หนี้สิน"
- ร้อยละ 69.95 คนในครอบครัว"ตกงาน"/ว่างงาน
- ร้อยละ 67.19 ความเครียด โรคซึมเศร้า
ส่วน "ปัญหาหนักอก" ในครอบครัว พบว่า
- ร้อยละ 44.27 รายรับไม่พอกับรายจ่าย รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
- ร้อยละ 20.31 วิตกกังวลเรื่องสุขภาพ กลัวติดโควิด-19
- ร้อยละ 11.11 ปัญหาเรื่องการทำงาน ความมั่นคงในอาชีพ
ขณะที่พฤติกรรมของครอบครัวไทยในยุคโควิด -19 พบว่า พฤติกรรมครอบครัวไทยที่เพิ่มขึ้น คือ ร้อยละ 75.17 การดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ร้อยละ 67.31 ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 และร้อยละ 57.09 มีความเครียด ความวิตกกังวล
ส่วนพฤติกรรมที่ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 63.77 การเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 62.42 กินข้าวนอกบ้าน และร้อยละ 44.51 มีรายได้ลดลง สำหรับมองยุคโควิด-19 ในแง่บวก ร้อยละ 70.28 ระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น ร้อยละ66.61 ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และ 63.28 มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น
- สังคมไทย ฉบับ Single
สภาพ "ครอบครัวไทย"ในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ จะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีเพียงพ่อ แม่ ลูก ไม่ได้เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ย่าตายายในบ้าน หรือเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำมาหากินในเมืองใหญ่ และส่งลูกหลานไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง นอกจากนั้นยังมีครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น ขณะที่สถิติการสมรสลดลง
แบงคอก แมทชิ่ง (Bangkok Matching) ธุรกิจจัดหาคู่ ได้เปิดสถิติการสมรสและการหย่าร้างของประเทศไทย ประจำปี 2563 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ภาพรวมพบสถิติการหย่าของทั้งประเทศไทย ปี 2563 ลดลงราวร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2562
ส่วนสถิติการสมรสก็ลดลงถึงร้อยละ 17 เช่นกัน โดยในส่วนของกรุงเทพฯ ประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน เคยเป็นเมืองที่มีคนแต่งงาน และหย่ามากที่สุดในประเทศ พบว่า สถิติการหย่าร้างปี 2563 ลดลงราวร้อยละ 10 ส่วนสถิติการสมรส ก็ลดลงถึงร้อยละ 22
ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ได้อธิบายสภาพครอบครัวไทยได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่าปัญหาครอบครัว มันส่งปัญหาสู่สังคมเป็นคลื่นใต้น้ำ
-------------------------
ที่มา :
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต