นศ.พยาบาลปี 4 จิตอาสา ดูแลผู้ป่วยโควิดรอเข้า 'Home Isolation'

นศ.พยาบาลปี 4 จิตอาสา ดูแลผู้ป่วยโควิดรอเข้า 'Home Isolation'

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี จับมือ สปสช.เขต 6 ระยอง จัดนักศึกษาพยาบาลปี 4 จำนวน 154 คน ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างรอหน่วยบริการรับเข้าดูแลแบบ 'home isolation' เตรียมขยายดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ในชุมชน

วันนี้ (10 ส.ค. 64) ดร.ศุกร์ใจ เจริญสุข ผู้อำนวยการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี เปิดเผยว่า ทางวิทยาลัยฯได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 6 ระยอง ในการจัดโครงการให้นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และยังอยู่ระหว่างรอหน่วยบริการเข้ามาดูแลที่บ้านหรือ home isolation

โดยเบื้องต้นจะมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 154 คน เข้าร่วมให้คำปรึกษา ซักถาม ประเมิน ติดตามอาการและคัดกรองผ่านทางโทรศัพท์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มอาการที่แย่ลงก็จะประสานข้อมูลเพื่อส่งต่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

ดร.ศุกร์ใจ กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบ home isolation เป็นประโยชน์และสามารถบูรณาการกับการเรียนการสอนนักศึกษาได้ จึงนำมาบูรณาการกับรายวิชาการรักษาโรคเบื้องต้นซึ่งเป็นวิชาที่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 กำลังเรียนอยู่ ทั้งนี้วิชาดังกล่าวเน้นในเรื่องการตรวจประเมินและคัดกรองผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยอยู่แล้ว สอดคล้องกับภารกิจที่จะทำ

162858577964

ส่วนการเตรียมการในขณะนี้ ทาง สปสช.เขต 6 ได้จัดประชุมชี้แจงระบบและขั้นตอนการดูแลให้นักศึกษาได้รับทราบ รวมทั้งจัดเตรียมโทรศัพท์สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานให้ 100 เครื่องและจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยแต่ละวันทาง สปสช.เขต 6 จะส่งเคสที่อยู่ระหว่างรอรับการบริการมาให้บริหารจัดการ ส่วนนักศึกษาก็จะจัดตารางงานหมุนเวียนกันมาปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนในวิชาอื่นๆ

นอกจากนี้แล้ว ในการปฏิบัติงานยังจะมีทีมพี่เลี้ยงจาก สปสช.เขต 6 และอาจารย์ที่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาผู้ป่วยเพื่อคัดกรองและดูแลเรื่อง Home Isolation มาช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง คาดว่าศักยภาพในการโทรติดตามสอบถามอาการและคัดกรองผู้ป่วยน่าจะทำได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ดีก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยที่รอรับบริการในช่วงนั้นๆด้วย

"เราเลือกนักศึกษาปีที่ 4 ก่อนเพราะมีความพร้อมและความรู้มากที่สุดและจะประเมินผลในอีก 2 สัปดาห์ หากเห็นว่ามีจุดไหนที่นักศึกษาปี 2 และ 3 เข้ามาช่วยได้ก็จะเปิดระบบจิตอาสาเข้ามาช่วยงาน ซึ่งตอนนี้ก็มีกลุ่มนักศึกษาจิตอาสาสอบถามมาเช่นกัน แต่เราขอดูศักยภาพก่อนว่าสามารถเข้ามาเติมในจุดไหนได้บ้าง ตอนนี้ขอเอาปี 4 ก่อน" ดร.ศุกร์ใจ กล่าว

162858577958

 

ดร.ศุกร์ใจ กล่าวว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับ สปสช.เขต 6 จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาในหลายๆด้าน ประการแรกคือนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คือกลุ่มที่เตรียมตัวเข้าสู่ระบบการทำงานแล้ว การทำงานนี้ก็จะได้อัพเดทความรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ นอกจากนี้ยังทำความเข้าใจกับระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะเรื่อง Service Delivery ระบบปฐมภูมิ การคัดกรอง ประเมิน และส่งต่อไปในระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ ว่าทำอย่างไร

อีกทั้งได้เรียนรู้เรื่อง tele-health tele-medicine ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในขณะนี้ ทำให้เห็นภาพว่าจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยดูแลสุขภาพผู้รับบริการได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็ได้ฝึกทักษะการสื่อสารซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมาก ได้เรียนรู้การใช้เทคนิคการสื่อสารที่สร้างสรรค์ เพราะต้องโทรไปคุยกับผู้รับบริการ ญาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆที่อยู่ในระบบสุขภาพ

"อีกประการที่คนอาจคิดไม่ถึงคือนอกจากความรู้และทักษะแล้ว ยังได้เรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตลักษณ์ของสถาบันพระบรมราชชนกเราเน้นเรื่องจิตบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ขณะที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว นอกจากได้ประเมินในเรื่องร่างกายก็จะได้ดูแลจิตใจไปด้วย ได้เรียนรู้ผลกระทบของสังคมความเชื่อต่างๆที่มีต่อผู้ป่วยเป็นอย่างไร เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งมิติเรื่องกาย จิต สังคม" ดร.ศุกร์ใจ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินงานไปเรื่อยๆจนกว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลาย แต่หากหมดภาคการศึกษานี้แล้วสถานการณ์ยังคงรุนแรงก็อาจจะปรับมาเป็นระบบจิตอาสาหรือการบูรณาการในรายวิชาอื่นที่ต่อเนื่องกันแทน

ดร.ศุกร์ใจ กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์แบบนี้ทุกฝ่านต้องร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับการระบาด ซึ่งในส่วนของวิทยาลัยฯเอง หากมีอะไรที่สามารถช่วยเหลือสังคมในการสู้ภัยโควิด-19 ได้ก็ยินดีสนับสนุนตามกำลังความสามารถที่มี โดยนอกจากโครงการนี้แล้ว ทางวิทยาลัยฯยังมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับ โควิด-19 ในหลายๆเรื่อง เช่น การส่งอาจารย์ไปร่วมกับโรงพยาบาลชลบุรีในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม การช่วยฉีดวัคซีนทั้งที่สถานีกลางบางซื่อ และเทศบาลเมืองบ้านสวน และเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก็พานักศึกษาจิตอาสาปีที่ 2-4 ไปดูแลผู้ที่มาฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อวันละ 30 คน

162858584375

 

ด้าน นายวิศิษฎ์ ยี่สุ่นทอง ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นดังกล่าวเนื่องจากทางภาคตะวันออกมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างไม่สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการได้ และไม่ทราบว่าผู้ป่วยที่ตกค้างได้รับบริการแล้วหรือไม่และจำเป็นต้องมีการโทรศัพท์ตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าได้รับบริการแล้วหรือยัง รับบริการที่ไหน อาการเป็นอย่างไร และระหว่างที่รอรับบริการ

ทางเจ้าหน้าที่ของ สปสช.เขต 6 ก็จะโทรสอบถามแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบมีจำนวนมาก ทางสปสช.เขต 6 จึงคิดถึงทรัพยากรในพื้นที่ เช่น นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาการสาธารณสุข คณะพยาบาลศาสตร์ต่างๆว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร และทำการประสานกับวิทยาลัยพยาบาล 2-3 แห่ง ซึ่งทางวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรีก็เข้าใจแนวคิดและยินดีเข้าร่วม

นายวิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทาง สปสช.เขต 6 ได้จัดการปฐมนิเทศนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการในหลายๆด้าน เช่น ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มต้องดูแลอย่างไร ผู้ป่วยสีเขียวจะมีสเต็ปการดูแลอย่างไร ผู้ป่วยสีเหลืองจะมีช่องทางให้ส่งข้อมูลกลับมาให้ทีมพี่เลี้ยงติดต่อเรื่องเตียงอย่งไร รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องคำถามที่ต้องพบบ่อยๆและแนวทางคำตอบ เป็นต้น รวมทั้งจัดทีมพี่เลี้ยงจำนวน 5 ทีมสำหรับให้คำแนะปรึกษาในการปฏิบัติงาน

"จำนวนเคสผู้ป่วยที่ที่เข้ามาในระบบ บางวันก็ 300-400 คน บางวันก็เป็นพันคน ระยะแรกเราจะตัดแบ่งให้ดูแลจำนวน 30-40 เคส/ทีมก่อน เพื่อให้นักศึกษาได้ปฏิบัติจนเกิดความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เมื่อนักศึกษาเริ่มคุ้นเคยแล้วก็จะเพิ่มจำนวนอาจเป็น 300-400 เคส/วัน และอาจจะเพิ่มในเรื่องอื่นๆเข้ามา เช่น การดูแลผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างรอเตียง การดูแลผู้ป่วยที่เข้าไปอยู่ในระบบการดูแล้ว หรือแม้แต่การดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่นอกเหนือจากโควิด-19 เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต ที่อยู่ในชุมชนซึ่งตอนนี้มาข้อจำกัดไม่สามารถเดินทางมาพบแพทย์ได้ เป็นต้น"นายวิศิษฎ์ กล่าว