เช็ค! รพ.สนามรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปิดแล้ว

เช็ค! รพ.สนามรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปิดแล้ว

สธ.ทยอยปิดรพ.สนามในกทม.หลายแห่ง ระบุยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลแนวโน้มลดลง เตียงพร่องลง30-40 %


      เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 กันยายน 2564  ที่อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวในพิธีปิดโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานต่อสู้โควิด-19 จำนวน 24 หน่วยงานว่า รพ.บุษราคัมใช้เวลาในการจัดตั้งเพียง 7 วัน 1,000 เตียงเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทยจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และได้ขยายเป็น 3,700 เตียง เปิดไอซียูสนาม หอผู้ป่วยวิกฤตโกเมน และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทับทิม ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
        การปิดรพ.บุษราคัม ถือเป็นการจบภารกิจการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่ได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมเป็นต้นมา รับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้การดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่มีผู้ป่วยจำนวนมากถึงวันละ 200 ราย จากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

     จากนั้นในเดือนกันยายนจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อย ๆ เหลือประมาณ 5-6 รายต่อวัน และส่งผู้ป่วยคนสุดท้ายกลับบ้านวันที่ 20 กันยายน 2564 รวมเปิดบริการ 130 วันให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งสิ้น 20,436 ราย โดยบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่เสียสละมาปฏิบัติภารกิจที่โรงพยาบาลบุษราคัม ได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ของตนเอง ส่วนพื้นที่โรงพยาบาลบุษราคัมได้ทำการรื้อถอนและทำความสะอาดพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลภูมิภาคทั่วประเทศตามที่ได้สำรวจความต้องการของพื้นที่ไว้
        “ช่วงนี้แม้จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละหมื่นกว่าราย แต่ที่ต้องการรพ.ลดลง ต้องการรพ.จริงๆมีไม่มาก และก่อนที่ปิดรพ.บุษราคัม ได้สอบทานแล้วว่า รพ.ในกทม.มีเตียงพร่องลง 30-40 % จึงสามารถรองรับผู้ป่วยได้ อีกทั้ง การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ปรับรูปแบบให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยเข้าระบบรักษาตัวที่บ้าน, กักตัวที่ชุมชน, ศูนย์พักคอย, รพ.สนามหรือในฮอสปิเทล ส่วนผู้ที่มีอาการปานกลางถึงอาการหนักส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุด ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา และมารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

     ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  กรมการแพทย์ได้มีการปรับเปลี่ยนสถานพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับเพื่อให้สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ในระบบปกติได้มากขึ้น เป็นการบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดยจะปิดให้บริการศูนย์แรกรับและส่งต่อ กระทรวงสาธารณสุข  ณ อาคารนิมิบุตร กรมพลศึกษา โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ จังหวัดปุทมธานี รวมทั้ง Hospitel อีก 2 แห่ง คือ Hospitel สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ Hospitel โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
         ทั้งนี้ จะอาจจะมีการปิดสถานพยาบาลแห่งอื่น ๆ ในสังกัดกรมการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโควิด -19 หากมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะลดลง อย่างไรก็ตาม สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ทันทีหากพบว่าสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้น โดยกรมการแพทย์จะมีการเปิดโรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อแทน พร้อมทั้งรักษาผู้ป่วยโควิค-19 ที่มีอาการสีเหลืองและสีแดงด้วย

       นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ พฤกษา เรียลเอสเตท ในการเปิดโรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลเลิดสิน ขนาด 200 เตียง เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มที่มีอาการรุนแรงซับซ้อน (กลุ่มผู้ป่วยเหลืองและแดง) ที่ต้องได้รับการดูแลให้ทันท่วงที เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชนที่ป่วยโควิด-19 ได้มากยิ่งขึ้น ลดการเจ็บป่วยรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากการที่ไม่ได้รับการรักษา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคมนี้