รู้จัก "ข้อเสื่อม - ข้ออักเสบ" โรคที่เป็นได้ทั้งเด็ก และผู้สูงวัย
ประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และหนึ่งในโรคที่เกิดในกลุ่มสูงวัย ได้แก่ โรคข้อ ไม่ว่าจะเป็น โรคข้ออักเสบ "โรคข้อเข่าเสื่อม" "โรคเก๊าท์" รูมาตอยด์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกัน หลายคนมองว่าโรคข้อเป็นโรคของผู้สูงวัย แต่ความจริงเด็กก็สามารถเป็นได้เช่นกัน
จากการประเมินสถิติในปี 2021 พบว่า มีผู้ป่วยโรคข้อทั่วโลกจำนวนมากถึง 350 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 88% รายงานว่าอาการของโรคข้อทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและรบกวนการทำงาน สถิติพบว่าคนอายุมากกว่า 65 ปี ประมาณครึ่งนึงจะมีอาการของโรคข้อ นอกจากนี้ แนวโน้มผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2040 เฉพาะในสหรัฐอเมริกา จะมีผู้ป่วยโรคข้อสูงถึง 78 ล้านคน
"โรคข้อ" นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ในทางการแพทย์มีการวินิจฉัยโรคข้อมากกว่า 100 ชนิด โดยชนิดของโรคข้อที่พบบ่อยที่สุดและเรารู้จักกันดี คือ “โรคข้อเสื่อม” โดยจากสถิติทั่วโลกพบว่าในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี สามารถพบอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม สูงถึง 22%
สำหรับ “ประเทศไทย” ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โรคข้อเสื่อมถือเป็น โรคที่พบบ่อยอันดับต้นๆ โดยสถิติผู้มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 จำนวน 11 ล้านคน พบอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในผู้ชาย 5.8% และในผู้หญิงสูงถึง 12%
“ศ.นพ. กีรติ เจริญชลวานิช” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ อนุสาขาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม โรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันโรคข้อสากล (World Arthritis Day) 12 ตุลาคม โดยระบุว่า โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับแรงกระแทกบริเวณข้อต่อมีการเสื่อม หลุดลอกออก กระดูกแข็งบริเวณข้อต่อ จึงเกิดการเสียดสี เกิดการอักเสบและอาการปวดขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ “ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้” เช่น อายุที่มากขึ้น เชื้อชาติ เพศหญิง ประวัติมีคนในครอบครัวเป็น และ “ปัจจัยเสี่ยงกลุ่มที่สามารถปรับเปลี่ยนได้” เช่น น้ำหนักตัวเกิน อาชีพที่ต้องใช้งานข้อเยอะ การเกิดอุบัติเหตุที่ผิวข้อ กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง และกลุ่มโรคความดันสูง ไขมันสูง และเบาหวาน ซึ่งปัจจุบันเราพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการข้อเสื่อม
- ชะลอความรุนแรงของโรค
ทั้งนี้ การชะลอความรุนแรงของโรคหากมีอาการ ศ.นพ.กีรติ อธิบายว่า อาการของข้อเสื่อมจะสัมพันธ์กับการใช้งาน หากเกิดอาการปวด อักเสบขึ้น ควรพักการใช้งานก่อน สามารถกินยาแก้ปวด ลดการอักเสบ คลายกล้ามเนื้อในช่วงที่มีอาการปวดเพื่อควบคุมอาการ จนเมื่ออาการปวดดีขึ้น จึงพิจารณาทำกายภาพฟื้นฟูสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
“อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการของข้อเสื่อมที่มีระดับรุนแรงมาก เช่น มีความผิดรูปที่ชัดเจน อาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยา หรือการทำกายภาพได้ดีนัก จึงเป็นกลุ่มที่เราจะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดและทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”
ทั้งนี้ เคล็ดลับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคข้อเสื่อม อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า “ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มที่สามารถปรับเปลี่ยนได้” สามารถดูแลตัวเองได้โดย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิน กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม บริหารสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงก็จะช่วยพยุงข้อต่อ ลดแรงกระแทกที่ข้อต่อลง
“สำหรับที่ รพ.เมดพาร์ค ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้อได้อย่างครอบคลุม มีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ชำนาญการเฉพาะทางทางด้านโรคข้ออักเสบ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด ทำให้สามารถเลือกการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร ทั้งการรักษาแบบใช้ยา การรักษาภายภาพฟื้นฟู และการรักษาแบบผ่าตัด อีกทั้งยังมีเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย คอยช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคที่วินิจฉัยได้ยากให้สำเร็จ” ศ.นพ. กีรติ กล่าว
- เด็ก ก็เป็นโรคข้อได้
ด้าน “นพ.วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช” อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคข้อและรูมาติซั่ม เฉพาะทางด้านโรคข้อเด็กและเอสแอลอี และ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค และนายกสมาคม (รับเลือก) สมาคมโรคข้อและรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากปัญหาโรคข้อที่เจอบ่อยอย่างเข่าและสะโพกซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้งานรับน้ำหนักแล้ว ปัจจุบันยังพบการเสื่อมที่ข้อมือมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในเด็กก็อาจจะเจอปัญหาได้จากการทำกิจกรรมที่มากขึ้นทำให้เกิดความเสียหาย เช่น เล่นกีฬา เด็กบางคนข้อมีความยืดหยุ่นได้มากเกินไปทำให้มีอาการปวด เจ็บ
“หลายคนมองว่าโรคข้อจะเกิดขึ้นเฉพาะในผู้ใหญ่ แต่ความเป็นจริงโรคข้อสามารถพบในเด็กได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การรักษาโรคข้อระหว่างเด็กและผู้ใหญ่มีความต่างกันอยู่เล็กน้อย การตอบสนองการรักษาในเด็กจะดีกว่า เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่เด็กมักจะมาล่าช้า เพราะหลายคนไม่คิดว่าเด็กจะมีโรคเหล่านี้อยู่ และเด็กมักจะไม่พูดว่าเจ็บ ปวด หรือมีปัญหา”
- ประคองอาการอย่างไร ไม่ให้เป็นซ้ำ
นพ.วิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันในผู้ป่วยที่รับการรักษาการปฏิบัติตัวและประคองอาการสำหรับ โรคข้อเสื่อม ควรปฏิบัติตัวให้ดีขึ้น เช่น หากคนที่มีน้ำหนักเกิน อาจจะต้องลดน้ำหนัก ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพื่อรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ส่วนโรคที่จำเป็นต้องรักษา เช่น รูมาตอยด์ หรือ เก๊าท์ นอกจากการรักษากินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ยังต้องติดตามกับแพทย์เป็นประจำ ขณะเดียวกัน ยาในกลุ่มที่ใช้รักษารูมาตอยด์ บางครั้งเป็นลักษณะยากดภูมิ ดังนั้น การดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ให้โรคกำเริบกลับมาเร็วเวลาที่เรารักษาและได้ผลที่ดีแล้ว
- โรคเก๊าท์ มีข้อห้ามในการทานอาหารหรือไม่
สำหรับข้อสงสัยที่ว่า คนที่เป็น โรคเก๊าท์ มีข้อห้ามในการทานอาหารหรือไม่ นพ.วิรัตน์ อธิบายว่า มีส่วนที่จำเป็นต้องควบคุม โรคเก๊าท์ มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเกิดจากร่างกายมีกรดยูริคสะสมมากเกินไป ขณะที่ปัจจัยภายนอก มีส่วน 15 - 20% ที่ทำให้ยูริคสูง ดังนั้น การคุมอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องใน เป็นการลด 20% แต่อาจจะไม่ได้ผลเด่นเท่ากับการควบคุมปัจจัยภายใน ดังนั้น ในเบื้องต้นถ้ายังไม่ทำอะไรเลย การคุมอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ 20% ตรงนั้นเราคุมได้ดีก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร แต่ระยะยาว หากอยากให้มีประสิทธิภาพจริงๆ การทานยารักษา ควบคุมจากภายในน่าจะเป็นปัจจัยที่ให้ผลต่อโรคได้มากกว่า