"อนุทิน"เผยเปิดประเทศ ไม่จำกัดแค่ 10 ประเทศ ผ่านเกณฑ์เดินทางได้ทั่วไทย
“อนุทิน”เผยเปิดประเทศ ไม่จำกัดแค่ 10 ประเทศ เตรียมพิจารณาเป็นโซนประเทศ ก่อนตัดประเทศติดเชื้อสูงออก ผู้เดินทางผ่านเกณฑ์ตามเงื่อนไข เดินทางได้เสรีทั่วไทย ย้ำเข้ามาต้องพักค้าง 1 คืนในASQ ณ จุดเข้าเมือง รอผลยืนยันตรวจไม่พบเชื้อก่อน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 12 ต.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดประเทศตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงการณ์มีเป้าหมายเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ว่า ได้แจ้งนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร)ถือว่าสิ่งที่นายกฯแจ้งประชาชนคือนโยบายและข้อสั่งการ สธ.ต้องหามาตรการและวิธีการให้ข้อสั่งการของนายกฯบังเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมีการเตรียมความพร้อมเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมีสิ่งใดที่จะทำให้เกิดความปกติก็ไม่ล่าช้าที่จะทำ
ถามถึงยอดการฉีดวัคซีนใน 17 จังหวัดนำร่องที่มีบางจังหวัดยังไม่ถึง 50 % นายอนุทิน กล่าวว่า ได้มีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งวัคซีนกำลังเข้ามาเต็มที่ตั้งแต่เดือนก.ย.-ต.ค.จึงต้องเร่งลงพื้นที่ให้มากที่สุด ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้ต้องพิจารณาในรายละเอียดด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยของการฉีดวัคซีนมีครบทั้งจำนวนวัคซีน และประสิทธิภาพในการฉีด จึงสามารถที่จะฉีดได้
ผู้สื่อข่าวถามถึง 10 ประเทศเสี่ยงต่ำที่จะให้เดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่กักตัว นายอนุทิน กล่าวว่า รอให้ศปก.ศบค.ประเมินก่อน อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งอธิบดีกรมควบคุมโรคแล้วว่า อย่าจำกัดเพียง 10 ประเทศ เพราะในโลกนี้อยู่กันเป็นประชาคม ยกตัวอย่าง หากอนุญาตประเทศเยอรมัน แต่ไม่มีประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็จะยุ่ง เพราะอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน จึงต้องแจ้งที่ประชุมศปก.ศบค.ว่าการกำหนดคุณสมบัติของประเทศต่างๆที่จะเข้ามาในประเทศไทยได้ต้องพิจารณาจากตรงไหน ไม่ใช่ดูที่ประเทศหรือใช้ความรู้สึก
ทั้งนี้ นโยบายของนายกฯต้องการให้มีการเปิดประเทศสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว มีการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCR เมื่อมาถึงประเทศไทยต้องนอนค้าง 1 คืนในจุดที่เข้าเมือง เช่น เข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ต้องพักในกทม. 1 คืนก่อนเพื่อรอผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR ซึ่งกรมควบคุมโรคพยายามเต็มที่จัดมาตรการให้เกิดความปลอดภัย
“สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว ที่ยังไม่มีวัคซีน ไม่มีประสบการณ์ หรือมาตรการการรักษาผู้ป่วย ปีนี้มีทั้งวัคซีนซึ่งพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ แต่วัคซีนช่วยให้ผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งในกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง คิดว่าน่าจะควบคุมสถานการร์ได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการรักษาชีวิตซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากำหนดจำนวนการอนุญาตเข้าประเทศในแต่ละวันหรือไม่ หากไม่กำหนดห้องแล็ปตรวจหาเชื้อใน 1 คืนพร้อมรองรับหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่กรมควบคุมโรคต้องหารือ ซึ่งนายกฯย้ำว่ามาตรการต่างๆต้องฟังคำแนะนำของสธ. ดังนั้น สธ.มีหน้าที่หามาตรการที่ปลอดภัยที่สุดที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากที่สุด
การเปิดประเทศ หมายความว่าเมื่อผู้เดินทางเข้ามาแล้ว สามารถเดินทางเข้าไปได้เฉพาะใน 10 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อเดินทางเข้ามาแล้วโดยมีเอกสารต่างๆที่ยอมรับ เช่น วัคซีนครบโดส เอกสารรับรองFit to fly มีการตรวจยืนยันเชื้อก่อนเดินทางจากต้นทางและเมื่อถึงประเทศตรวจยืนยันแล้วไม่พบการติดเชื้อ ก็ Free to go สามารถเดินทางได้เสรีในประเทศไทย โดยประเทศอื่นก็เป็นเช่นนี้ ซึ่งได้มีโอกาสหารือทางไลน์กับท่านทูตสิงคโปร์ก็เรียนว่าประเทศไทยจะเปิดประเทศ โดยสิงคโปร์น่าจะเป็นประเทศที่ให้มีการเดินทางอย่างเสรี ภายใต้กฎเกณฑ์ หวังว่าสิงคโปร์จะพิจารณาคนที่ไปจากประเทศไทยด้วย รวมถึง หารือกับทูตสวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา ด้วย ก็ต้องเป็นการหารือทวิภาคี หรือพหุภาคี ไม่ได้กำหนดประเทศเป็นชื่อๆ ได้มอบให้อธิบดีกรมควบคุมโรคหารือศปก.ศบค. เพราะมีหลายกรณี เช่น สหภาพยุโรป อาเซียน อาจพิจารณาเป็นโซนก่อน แล้วค่อยมายกเว้นประเทศที่มีปัญหาการติดเชื้อจำนวนมาก
ถามต่อว่าวัคซีนที่ประเทศไทยยอมรับในการอนุญาตให้เข้าประเทศไทย นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นวัคซีนที่ยอมรับในสากล อย่าไปบังคับตัวเองว่าต้องเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ เพราะประเทศไทยก็มีมาตรฐานที่ประเมินแล้วว่าสามารถยอมรับได้ เช่น สปุตนิก องค์การอนามัยโลกยังไม่ยอมรับ แต่ประเทศไทยก็ยอมรับให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนสปุตนิกครบโดสแล้วเข้ามาในประเทศไทยได้มาหลายเดือนแล้ว
“โดยหลักเมื่อฉีดวัคซีนครบโดส ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ และได้ใบรับรองก่อนเดินทาง เมื่อมาถึงเมืองไทยก็ตรวจหาเชื้อก่อนแล้วไม่พบเชื้อ ก็ถือว่าไม่มีเชื้อ ก็สามารถไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องไปตาม แต่อาจจะต้องให้รายงานเข้ามาตามแอปฯว่าเป็นอย่างไร ไม่มีอะไร เป็นต้น ต้องเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ ก็ไปตามมาตรฐาน”นายอนุทิน กล่าว
ด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ ได้มีการเตรียมเรื่องสถานที่ คนที่เดินทางเข้ามาต้องฉีดวัคซีนครบโดส มีเอกสารรับรองการเดินทาง และคนในประเทศต้องฉีดวัคซีน ซึ่งสิ้นต.ค.นี้จะฉีดวัคซีนเข็ม 1 ได้ครอบคลุมราว 50 % และเข็ม 2 น่าจะใกล้ 40 % และการฉีดในเดือนพ.ย.-ธ.ค.ก็จะเกินเป้าที่วางไว้ ก็จะทำให้สถานการณ์คนที่ติดเชื้อ การเสียชีวิตก็จะน้อยลง
“เมื่อเปิดประเทศไทยให้คนเข้ามามากขึ้น ก็ต้องมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่สามารถทำและมั่นใจได้คือคนที่มีอาการหนัก ที่ต้องป่วย ต้องเสียชีวิตให้มีน้อยที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการทางสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประชาชนเป็นไปได้อย่างปกติที่สุด แต่ผู้ที่เข้ามาไม่ได้แปลว่าปล่อยอิสระเสรี แต่ยังมีระบบเฝ้าระวังของจังหวัด เมื่อไหร่มีกรณีผู้ติดเชื้อเข้ามา ก็ต้องมีการสอบสวนเพื่อหาการเชื่อมโยงว่าไปตรงไหน ซึ่งคลัสเตอร์ใหญ่ไม่ค่อยมี ก็จะตรวจจับคลัสเตอร์เล็กๆ เกิดขึ้นได้ สามารถควบคุมให้อยู่ในสถานการณ์ได้ สามารถเปิดประเทศและดำเนินการกิจกรรมได้ตามปกติ”นพ.โอภาสกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงเกณฑ์การพิจารณาประเทศเสี่ยงต่ำ นพ.โอภาส กล่าวว่า คงพิจารณาหลายอย่างและดูตัวอย่างต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็ประกาศ ก็ต้องดูว่าดำเนินการอย่างไรรวมกับข้อมูลของประเทศไทยแล้วให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการวิชาการพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นเสนอสธ. ศปก.ศบค.และศบค.ต่อไป จากนั้นมรีเวลาเตรียมพร้อมราว 1-2 สัปดาห์ให้ระบบต่างๆพร้อม
ถามถึงความพร้อมของห้องแล็ปในการตรวจหาเชื้อช่วง 1 คืนที่รอผลของผู้เดินทาง นพ.โอภาส กล่าวว่า คงไม่ได้กำหนดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศในแต่ละวัน ส่วนว่าห้องแล็ปจะรองรับการตรวจได้หรือไม่ ก็จะมีระบบขนส่ง ซึ่งดูแล้วแล็ปในกทม.รองรับได้มาก ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะถ้าให้อยู่ 1 คืนน่าจะตรวจจับได้ แต่ถ้าเข้ามาจำนวนมาก ก็อาจจะปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆอีกครั้ง