16 ต.ค. วันอาหารโลก ทำไมเราควรกินอย่างรู้ที่มาอาหาร
16 ตุลาคม 2564 วันอาหารโลก แต่รู้หรือไม่ ทุกวันนี้คนไทยกินอาหารไม่ปลอดภัยมากขึ้น ผักในตลาด 90% มีสารเคมีเจือปน สสส.ชวนสร้างสำนึกผู้ผลิต กระตุ้นผู้บริโภคให้กินอย่างรู้ที่มาและเข้าใจระบบอาหารมากขึ้น
เนื่องใน "วันอาหารโลก" 16 ตุลาคม 2564 ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องอาหารบนจานตรงหน้ากันอีกครั้ง เพราะอาหารเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างแยกจากกันไม่ได้ อย่างที่ชอบพูดกันว่า “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง” ที่บอกกล่าวถึงคุณค่าของอาหารที่เรากินแต่ละมื้อ ว่าอย่ากินทิ้งกินขว้าง กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ดชาวนาต้องลำบาก
คำกล่าวนี้ก็อธิบายถึงระบบอาหารในวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี แต่จากการเปิดเผยของ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) ที่ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการกินของคนไทยเปลี่ยนไปมาก กินผักน้อยลง พึ่งพาการกินอาหารในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องอาหารในทุกมิติ
เช่น เกษตรกรผู้ผลิต ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคให้มากขึ้น ลดการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรของตัวเองลง ส่วนผู้บริโภคนั้น ต้องระลึกอยู่เสมอว่ามีพลังอยู่ในตัว สามารถกำหนดได้ว่าจะกินอะไรให้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งพลังนี้จะนำไปสู่การกดดันตลาดให้มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อคนกินมากขึ้น
ทราบหรือไม่ว่า ขณะนี้ผู้บริโภคอยู่ในระบบที่เรียกได้ว่าแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะอาหารที่รับประทานทุกวันนี้ แทบจะไม่มีความปลอดภัย
"พฤติกรรมการกินของเรา 40% มีผลต่อโลกอย่างชัดเจน หากเรากินให้หลากหลาย กินอย่างมีคุณภาพ และไม่กินซ้ำซากจำเจ หรือกินอาหารที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะช่วยโลกได้มาก"
วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้ดูแลโครงการสนับสนุนวิชาการและการบูรณาการระบบอาหารสุขภาวะสู่การสร้างสรรค์พลเมืองอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ให้ข้อมูลโดยอ้างถึงการสำรวจของกลุ่มไทยแพน พบว่า 90% ของอาหารที่อยู่ตามท้องตลาดมีสารเคมีเจือปนอยู่แทบทุกรายการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ผักคะน้า ซึ่งผักชนิดนี้มีอายุ 45 วันจึงจะเก็บขายได้ แต่กลับพบว่าใช้สารเคมีถึง 30 ครั้ง
ความไม่ปลอดภัยในอาหารยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเด็กๆ ด้วย โดยมูลนิธิการศึกษาไทยได้เก็บตัวอย่างเลือดของนักเรียนในโรงเรียน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนคร ปทุมธานี และพังงา พบว่า มีนักเรียนถึง 63% มีสารเคมีทางการเกษตรปะปนอยู่ในเลือด นอกจากอาหารที่กินจะไม่ปลอดภัยแล้ว ยังไม่มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย เพราะกินแป้งและน้ำตาลเป็นหลักทำให้ทุกวันนี้เด็กไทยอ้วนเกินกว่า 10% ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
“พฤติกรรมการกินของเรา 40% มีผลต่อโลกอย่างชัดเจน หากเรากินให้หลากหลาย กินอย่างมีคุณภาพ และไม่กินซ้ำซากจำเจ หรือกินอาหารที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมมากเกินไป ก็จะช่วยโลกได้มาก เหตุนี้เราต้องไม่ลืมว่าเราสามารถออกแบบการกินของเราได้ กินให้มีประโยชน์และกินอย่างรู้คุณค่า เราก็เห็นว่าระบบอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้เชื่อมโยงกับอะไรบ้าง” นางวัลลภา กล่าว
สำทับโดย ดร.นพ.ไพโรจน์ ที่กล่าวว่า “เมื่อผู้ผลิตและผู้บริโภคมีการตื่นรู้ในเรื่องของการกิน เท่ากับว่าสังคมเราได้มี พลเมืองอาหาร (Food Citizenship) ที่ตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิ หน้าที่ ในการเข้าถึงและบริโภคอาหารที่มีสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและสังคมแล้ว” กล่าว
ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤตและความท้าทายจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการผลิตอาหาร ความเหลื่อมล้ำและการเอาเปรียบจากราคาผลผลิตที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร รวมถึงโรคระบาดใหม่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นที่มาของแผนการดำเนินงานในระยะ 3 ปี (2565-2567) ของแผนอาหาร สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ที่จะมุ่งสร้างความรอบรู้ด้านอาหารแก่พลเมืองอาหารให้มีความตระหนักในการบริโภคให้มากขึ้น
ทางด้าน ดร.เพ็ญ สุขมาก อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในฐานะผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงทางอาหารเรื่อง “พืชร่วมยาง” กล่าวว่า การปลุกพลังพลเมืองเพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อนระบบอาหารให้ยั่งยืนนั้น ต้องชี้ให้เกษตรกรเห็นจุดวิกฤตหรือความทุกข์ที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ว่าเกิดจากอะไร อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ มาจากราคายางตกต่ำ เกษตรกรก็ประสบความยากลำบากมีรายได้ไม่เพียงพอ บางรายไม่มีเงินที่จะซื้อกินข้าว สาเหตุสำคัญคือการใช้พื้นที่สำหรับปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกยางอย่างเดียวจึงทำให้เสียโอกาสในการปลูกพืชอย่างอื่น โดยเฉพาะพืชอาหาร
ดังนั้นการชี้ให้เห็นถึงจุดวิกฤตจึงช่วยให้การชักชวนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกันนั้น เป็นไปได้ง่าย เพราะเห็นความทุกข์จากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทางออกอย่างยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ คือการปลูกพืชร่วมยาง อย่าง ขิง ข่า ขมิ้น ผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรบางชนิด รวมถึงผลไม้อย่าง ระกำ สละ ลองกอง ก็สามารถปลูกได้ นับเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานรากที่ให้ความมั่นคงทางอาหารในชุมชนด้วย