สปสช. ส่ง 10 สิทธิประโยชน์ เพื่อคนไทย ของขวัญ "ปีใหม่" 2565

สปสช. ส่ง 10 สิทธิประโยชน์ เพื่อคนไทย ของขวัญ "ปีใหม่" 2565

"สปสช." ร่วมส่งความสุข ปี 2565 มอบ 10 สิทธิประโยชน์ ของขวัญ "ปีใหม่” ให้กับคนไทยทุกคน เพิ่ม "สิทธิประโยชน์" รายการใหม่ พร้อมขยายบริการ เพื่อเพิ่มการดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

วันนี้ (1 ม.ค.65) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีสุขภาพดีเป็นหนึ่งในคำอวยพรที่คนไทยต่างส่งความสุขให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคต่างๆ ก็เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนไทยทุกคนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการที่เป็นอุปสรรค ตลอดระยะเวลา 19 ปี ของการดำเนินงานกองทุนฯ ได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

 

ในศุภวาระขึ้น "ปีใหม่" 2565 สปสช. ขอร่วมส่งความสุขมอบ 10 สิทธิประโยชน์บริการใหม่ และการขยายบริการให้ครอบคลุม เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทยในปีใหม่นี้ ดังนี้ 

 

เริ่มจาก สิทธิประโยชน์ที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 มกราคม 2565 ได้แก่

 

1. รับบริการหมอครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เป็น 1 ใน 4 บริการเพื่อยกระดับบัตรทอง ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับคนไทย ซึ่งปีที่ผ่านมามีการดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4, 7, 9, 10 และเขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการตอบรับด้วยดี

 

ดังนั้น ในปี 2565 นี้ จึงขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หลักการของนโยบายนี้คือ ประชาชนยังคงเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย แต่กรณีมีความจำเป็น (เหตุสมควร) สามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต ที่เคยเป็นปัญหากับพี่น้องประชาชน

 

สปสช. ส่ง 10 สิทธิประโยชน์ เพื่อคนไทย ของขวัญ \"ปีใหม่\" 2565

2. ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวทั่วประเทศ เดิมการขอใบส่งตัวรักษาจากหน่วยบริการประจำเพื่อรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ผู้ป่วยหรือญาติต้องทำทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือจนกว่าสิ้นสุดการรักษา นอกจากเกิดความไม่สะดวกแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง จากที่นำร่องที่เขต 9 นครราชสีมา กทม.และปริมณฑล ได้รับการตอบรับด้วยดี ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับการดูแลที่เป็นระบบเดียวกัน ปี 2565 สปสช. จึงขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  

 

3. บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) โดยให้ประชาชนทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เป็นการขยายบริการที่นอกจากเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนแล้ว ยังมุ่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากเอดส์ สู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศ  

 

4. การตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจคัดกรองและค้นหาการกลายพันธ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ให้พบในระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาเร็ว ซึ่งจะมีความคุ้มค่ากับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และประหยัดต้นทุนค่ารักษาในกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์

 

5. บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry เป็นการขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก เพื่อเข้าสู่การรักษาโรคหายากได้อย่างรวดเร็วและช่วยชีวิตเด็ก ซึ่งการรักษาโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกก่อนมีอาการแสดง จะช่วยประหยัดต้นทุนค่ารักษา (cost-saving) และในปัจจุบันการคัดกรองเป็นวิธีการเดียวที่มีความแม่นยำในการระบุตัวผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาก่อนมีอาการ 

6. การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก โดยให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ไม่มีฟันทั้งปากและมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา รวมเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 24,200 บาทต่อราย

 

7. บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก (CA Oral Screening) เพิ่มการค้นหาผู้มีรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปากรายใหม่ เข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น สำหรับประชาชนไทย อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา 

 

  • 3 บริการใหม่เพิ่มเติม ปี 2565

 

นอกจากนี้ ยังมีบริการใหม่เพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วอีก 3 สิทธิประโยชน์ใหม่ ได้แก่

 

8. บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์เพื่อสายตาที่ดีสู่การพัฒนาการที่ดีของเด็กไทย โดยปี 2565 สปสช. กำหนดเป้าหมายคัดกรองตรวจสายตาเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศและเด็กอนุบาล 1 ถึงนักเรียนชั้น ป.6 ที่ครูสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตา และนำเด็กที่มีปัญหาสายตาเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์พร้อมตัดแว่นสายตา โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ พร้อมร่วมรณรงค์มอบสิทธิประโยชน์นี้เพื่อเป็นของขวัญวันเด็ก  

 

9. เพิ่ม 2 บริการตรวจคัดกรองคู่หญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและเชื้อซิฟิลิส เนื่องจากเป็นโรคที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแท้งบุตร รวมถึงคุณภาพเด็กเกิดใหม่ได้ ที่ผ่าน สปสช. ได้มอบสิทธิประโยชน์นี้ให้กับหญิงตั้งครรภ์ แต่ด้วยโรคธาลัสซีเมียและซิฟิลิส คู่ของหญิงตั้งครรภ์เป็นพาหะที่ส่งต่อให้กับทารกได้ สปสช. จึงขยายเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์เพื่อให้ครอบคลุมการดูแล

 

10. ขยายบริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) ตามที่ สปสช.ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD.) ด้วยการบริการล้างไตผ่านช่องท้องใช้เครื่องอัตโนมัติ โดยนำร่องในปีที่ผ่านมา เน้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางสังคม อาทิ นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ในปี 2565 สปสช. ได้ตั้งเป้าหมายบริการอีกจำนวน 500 เครื่อง เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ และเพิ่มความสะดวกในการล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีคุณภาพดีมากขึ้น  สปสช.เพิ่มเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD เกือบ 1,300 เครื่อง กระจายทั่วประเทศ

 

ของขวัญปีใหม่ 2565 ที่มอบให้กับประชาชนนี้ มาจากความตั้งใจและมุ่งมั่นของ บอร์ด สปสช. และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดี เข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด ทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลักประกันสุขภาพจริงๆ ของประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso