เปิดเกณฑ์ "UCEP พลัส" ป่วยโควิด19 รักษาฟรีทุกที่
เริ่ม 1 มี.ค. “UCEP พลัส” ป่วยโควิด19รักษาได้ทุกที่ สธ.เตรียมคลอดเกณฑ์ เบื้องต้นรองรับผู้ป่วยเหลือง-แดง และเขียวที่มีโรคร่วมคุมไม่ได้ ขณะที่ “รมช.สธ.”ยังขวาง บอกผิดเวลา ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่ง
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาาณสุข (รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมเปิด UCEP พลัส รองรับผู้ติดโควิด19 ที่เข้าข่ายตามเกฯณฑ์ที่กำหนด สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ว่า การปรับให้โควิดไปรักษาตามสิทธิ โดยผู้มีอาการสีเหลือง สีแดงยังเข้าใช้ UCEP พลัส ได้ เป็นหลักการที่ดี ที่จะเตรียมปรับโควิด19ไปสู่โรคประจำถิ่น แต่กังวลว่ายังผิดเวลา ถ้าผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้น ตรวจ RT-PCR และ ATK รวมกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ความรู้สึกของประชาชนบางส่วนยังอยากเข้า รพ. ซึ่งจะทำให้ศักยภาพเตียงลดลง เพิ่มภาระบุคลากรหน้างานในการประเมินอาการ จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับในวันที่ 1 มี.ค. 2565
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค. 2565 สธ.จะปรับการรักษาโควิด19เป็นไปตามสิทธิ โดยหลัก คือ ผู้ป่วยสีเขียวเข้ารับการรักษาที่บ้านหรือชุมชนเป็นหลัก (HI/CI First) ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ยังให้เข้าสู่การรักษาได้ทุกที่ทั้ง รพ.รัฐและเอกชน ตามนโยบาย “ UCEP พลัส” ซึ่งการใช้สิทธิ UCEP พลัส มีทั้งกรณีที่อยู่ HI/CI แล้ว เมื่อติดตามประเมินอาการพบเปลี่ยนแปลงเป็นเหลืองและแดง ซึ่งจะมี รพ.คู่สัญญาหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นดูแล ก็จะส่งต่อเข้าสู่การรักษาใน รพ.ทันที ส่วนกรณีที่มีอาการหนักขึ้นมาฉับพลัน ประสานสายด่วน 1669 ในการส่งต่อ
ผู้สื่อข่าวถามถึงหลักเกณฑ์นิยามผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง นพ.ธเรศ กล่าวว่า
นิยามผู้ป่วยสีเหลืองและแดงมีอยู่แล้ว โดยผู้ป่วยสีเหลืองคือเริ่มมีอาการปอดอักเสบ มี 2 ระดับ คือ
2.1 ที่ต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนแคนนูลา
2.2 ที่ต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์
ส่วนสีแดงคือใช้เตียงระดับ 3 ต้องนอนในไอซียู หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งบุคลากรจะมีเกณฑ์ในการเประเมินอาการเพื่อนำเข้าสู่ รพ.อยู่แล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องของอัตราการจ่ายเงินและให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ดำเนินการปรับขั้นตอนในการประเมินกลุ่มอาการสีเหลืองสีแดงรองรับ UCEP พลัส
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามปกติเกณฑ์การพิจารณาผู้ป่วยติดโควิด19 อาการสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น ใช้ออกซิเจน และหากต้องใส่ท่อช่วยหายใจจะเป็นผู้ป่วยสีแดง ซึ่งจะสามารถเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ มีการเพิ่มในส่วนของผู้ป่วยสีเขียว ที่แม้อาการของโรคโควิดไม่ได้รุนแรง แต่มีโรคร่วมที่ควบคุมไม่ได้ ให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่เช่นเดียวกัน ภายใต้นโยบาย UCEP พลัส
เช่น ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเจอเลือดออกในกระเพาะและต้องคัดกรองโควิด19 ก่อนเข้ารับการรักษาในรพ.ก็พบติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการของโควิด แต่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.เพราะเลือดออกในกระเพาะ ซึ่ง กรมสบส.จะพิจารณาการออกเกณฑ์UCEP พลัสที่จะให้สามารถเข้ารับการรักษาในรพ.ได้ทุกที่ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึง จะเปิดช่องให้รพ.รัฐสามารถส่งต่อผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ไปยังรพ.เอกชนได้ด้วย หากไม่มีเตียงรองรับ