เปิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยแล้วกว่า 120 ล้านโดส
เปิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยแล้วกว่า 120 ล้านโดส ถือว่าอยู่ในระดับต่ำทุกตัว เสียชีวิตเกี่ยวข้องวัคซีน 4 ราย
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 นพ.เฉวตรสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนสะสมจนถึงวันที่ 13 ก.พ.2565 จำนวน 120 ล้านโดส แยกเป็นซิโนแวค 26.4 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 46.8 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 14.7 ล้านโดส ไฟเซอร์ 27.6 ล้านโดส โมเดอร์นา 4.3 ล้านโดส พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน เป็นการแพ้รุนแรง 79 ราย แยกเป็นซิโนแวค 43 รายคิดเป็น 0.16 ต่อแสน แอสตร้าเซนเนก้า 22 รายคิดเป็น 0.05 ต่อแสน ซิโนฟาร์ม 3 รายคิดเป็น 0.02 ต่อแสน ไฟเซอร์ 11 รายคิดเป็น 0.04 ต่อแสน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำทุกตัว
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบ 31 ราย เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 1 รายคิดเป็น 0.002 ต่อแสน ซิโนฟาร์ม 1 ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสน ไฟเซอร์ 29 ราย คิดเป็น 0.1 ต่อแสน
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ พบ 6 ราย เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 5 ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสน และไฟเซอร์ 1 ราย คิดเป็น 0.004 ต่อแสน
ส่วนผู้เสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนที่ได้รับรายงาน 2,081 ราย คณะเชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 1,464 ราย สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 4 ราย แยกเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย แพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 ราย และมีอาการStevens-Johnson syndrome และอาการแพ้ทางผิวหนัง 1 ราย เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน 177 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 116 ราย เลือดออกในสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 2 ราย อื่นๆ 40 ราย เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 938 ราย เช่น เลือดออกในสมอง 67 ราย ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย ปอดอักเสบรุนแรง 402 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 7 ราย โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ 163 ราย นอกนั้นยังต้องหาข้อมูลเพิ่มติดตามต่อเนื่อง และที่ยังไม่สามารถสรุปได้
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า กรณีเด็กชายอายุ 12 ปี ที่เสียชีวิต ฉีดไฟเซอร์เข็ม 1 วันที่ 25 ม.ค.หลังฉีดปกติกลับบ้านมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการปวดขาข้างซ้ายในวันเดียวกับที่ฉีด 3 วันหลังจากนั้นวันที่ 28 ม.ค.มีอาการปวดเข่า รักษาที่คลินิก อาการไม่ดีขึ้น มีอาการอ่อนแรงและปวดขามากขึ้นทั้ง 2 ขา วันที่ 2 ก.พ.ไปรพ.เอกชนด้วยอาการอ่อนแรง ยกขาไม่ขึ้น ขาลายมีรอยจ้ำเขียว ยกไม่ขึ้น ปัสสาวะน้อย แพทย์สงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งต่อ รพ.กระบี่ได้ให้ยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตในวันที่ 3 ก.พ. ผลตรวจในห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดขาวสูง เพาะเชื้อจากเลือดพบเชื้อแบคทีเรีย คณะผู้เชี่ยวชาญสรุปผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ ร่วมกับมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่พบการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน ข้อมูลการตรวจจากป้องปฏิบัติการสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดช่วงเวลาใกล้เคียง
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์