รู้จัก "พิษวิทยา" ศาสตร์แขนงสำคัญ ที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน
ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีมากขึ้นไม่ว่าจะในอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ในครัวเรือน ยารักษาโรค ก่อให้เกิดการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิด “ภาวะเป็นพิษ” รวมถึงภาวะพิษจากธรรมชาติ พืช และสัตว์ ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้าน พิษวิทยา ในไทยมีจำนวนราว 20 คนเท่านั้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี อธิบายว่า "พิษวิทยา" (Toxicology) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งศึกษาถึงผลกระทบของสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม พิษวิทยาจึงมีส่วนสัมพันธ์กับวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น เภสัชวิทยา ชีวเคมี สรีรวิทยา สาธารณสุข แพทยศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา เป็นต้น
พิษวิทยา จึงมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปมากเช่น การผลิต สังเคราะห์ยา และสารเคมีชนิดใหม่ๆได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
สิ่งที่ตามมา ก็คือ ผลกระทบจากวิทยาการใหม่ๆ ต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ได้รับสารพิษ (toxic substance) โดยตรงหรือโดยอ้อมมักเกิดอาการเป็นพิษต่างๆ ซึ่งต้องพึ่งแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามอาการที่ปรากฏ ดังนั้นความรู้และความเข้าใจทางพิษวิทยาคลินิกจะช่วยในการตรวจวินิจฉัยตลอดจนรักษาโรคอันสืบเนื่องจากสารพิษต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษเท่าที่ผ่านมาแพทย์จะประสบปัญหา คือ
1. ขาดข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ทั้งในแง่ลักษณะอาการ อาการเป็นพิษ และแง่การรักษา
2. ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้าเกินไป แพทย์ไม่สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือไม่ทราบว่าสารที่ได้รับเข้าไป จะก่อให้เกิดพิษในภายหลัง จึงละเลยไม่ให้การรักษา
3. ขาดประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ เนื่องจากขาดการวางแผนการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด และเป็นแบบแผน ซึ่งส่งผลให้การรวบรวมข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆ จากสารพิษไม่ครบถ้วน พอที่จะนำไปเป็นประโยชน์ในการแง่การพัฒนาการรักษาและหาสถิติ เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นพิษในอนาคต
4. ขาดข้อมูลที่อาจจะทำให้แพทย์ให้การรักษาเกินความจำเป็น ในบางครั้งการรักษาด้วยยาต้านพิษอาจจะมีอันตรายมากกว่าตัวสารพิษเองหากใช้ไม่ถูกวิธี
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 65 “ศ.นพ.วินัย วนานุกูล” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวในงาน สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มย่อยแบบเสมือนจริง (Virtual Group Interview) ในประเด็น “คุยกับแพทย์ 2 สาขากับโรคที่พบมากในปัจจุบันท่ามกลางวิกฤติโควิด – 19” จัดโดย มูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยอธิบายว่า “ภาวะเป็นพิษ” เกิดได้จากทุกสิ่งบนโลกนี้ หากได้รับในภาวะที่มากเกินไปและไม่เหมาะสม เช่น สารที่ไม่ควรกิน รวมถึงพิษจากธรรมชาติ
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา สมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อน มีไม่กี่คนและส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขานี้ ทำให้ประสบปัญหาเมื่อผู้ป่วยได้รับพิษจากสาเหตุต่างๆ ไม่มีองค์ความรู้ในการวินิจฉัยและรักษา ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั่วโลกประสบปัญหานี้หมด
“WHO สรุปออกมาว่า การที่พยายามผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคงไม่ทันเวลาในการแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหานี้ได้ คือ การทำให้แต่ละประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็กๆ แต่สามารถให้ความรู้ ข้อมูลกับแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือประชาชน"
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ให้คำปรึกษา วินิจฉัย รักษา
ศ.นพ.วินัย อธิบายต่อว่า ก่อนหน้านั้น รพ.รามาธิบดี มีแพทย์อยู่ 2 คน และมีห้องแล็บทางด้านพิษวิทยา จึงมีการจัดตั้ง ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ในเดือน ส.ค. 2539 โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน เพราะต้องการให้แพทย์ที่อยู่ทุกที่ในประเทศไทย มีศักยภาพ วินิจฉัย รักษาผู้ป่วย ที่ได้รับสารพิษชนิดต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตามศักยภาพตาม รพ. ขณะที่ ใน รพ.ขนาดเล็กหากเกินศักยภาพ ก็มีการแนะนำในการส่งต่อเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา เพื่อให้ทุกคนที่ได้รับภาวะเป็นพิษได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
การให้บริการทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีสายด่วน 1367 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง มีนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตอบคำถามแพทย์ได้ ในการวินิจฉัย รักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์ เภสัชกร พยาบาลที่ผ่านการอบรม ในรายที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ก็มีแพทย์ที่อยู่เวรให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เรียกว่าจะเป็นต้นแบบของแพทย์ทางไกล ในยุคแรกเป็นการโทรเป็นสายด่วน และมีการพัฒนาระบบการส่งข้อมูลภาพเอกซเรย์ โดยใช้ระบบเทเลเมดิซีน ในการส่งภาพ ทำให้มีการวินิจฉัยได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
ไทยมีผู้เชี่ยวชาญพิษวิทยา 20 กว่าคน
“แต่เดิมผู้เชี่ยวชาญนักพิษวิทยาทั่วประเทศมีเพียง 5 คน หลังจากนั้น เรามีความพยายามฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 20 กว่าคนทั่วประเทศ ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ไม่เพียงพอ แต่จำนวนนี้ หากเทียบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด หรือ เอเชีย ถือว่ามาก เพราะบางประเทศแทบจะไม่มีเลย ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับภาวะพิษต่างๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว”
“ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ยังจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการทางวิชาการเพื่อเสริมพลังให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องส่งผู้ป่วยมาที่ส่วนกลาง ด้วยแรงสนับสนุนของมูลนิธิรามาธิบดี และ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล"
ปี 2564 ให้คำปรึกษากว่า 3 หมื่นคน
สำหรับในปี 2539 หลังจากเปิดให้บริการ มีแพทย์โทรเข้ามาปรึกษาราว 490 คน ขณะที่ปี 2563 จำนวน 29,172 คน และปี 2564 มีแพทย์โทรเข้ามาปรึกษากว่า 3 หมื่นคน โดยทางศูนย์ฯ มีการโทรติดตามเป็นระยะ รวมถึงทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ติดต่อศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี
- สายด่วน 1367 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
- โทรสาร 02-201-1084 ถึง 6 กด 1
- อีเมล : [email protected]
- เว็บไซต์ : ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี
- เฟซบุ๊ก : Ramathibodi Poison Center
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทางการแพทย์ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดี
ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี
- ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 026-3-05216-3
- ธนาคารกสิกรไทย เลขบัญชี 879-2-00448-3
- ธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 090-3-50015-5
หรือดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ มูลนิธิรามาธิบดี