“ความจริง” จาก “คนจ่ายยา”
ฟังเรื่องอีกมุมตรงหน้าเคาน์เตอร์ร้านขายยา และจรรยาบรรณที่เภสัชกรไม่ได้บอก
“เจ็บไหม”
คำถามดังขึ้นพร้อมๆ กับแรงกดของนิ้วมือกำลังลงน้ำหนักไปยังจุดที่น่าจะ “มีปัญหา” ขณะที่อีกฝ่าย ทั้งสีหน้า และท่าทางประหวั่นพรั่นพรึง ออกอาการกังวลอย่างเห็นได้ชัด หลังจากยื่นแขนข้างนั้นให้ดู
“โอ้ย เจ็บ...” ยังไม่ทันสิ้นเสียงตอบ มืออีกข้างก็ลงแรงคลึงผิวเนื้ออีกจุดทันที
หลังจากตรวจสอบ ซักถามอาการเบื้องต้น ตัวยาที่ใช้แก้อาการจึงทยอยถูกบรรจุลงในซอง ก่อนจะยื่นให้
“ถ้ากินยาไม่หายทำไง ไม่ยอมไปหาหมอ”
“...ก็มาที่นี่แหละ” เจ้าของอาการหัวเราะแก้เก้อ พลางลูบช่วงแขนบริเวณที่ปวด ก่อนจะร่ำลาออกจากประตูไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเกิดขึ้นจนเป็นภาพชินตาตามร้านขายยาทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ร้านที่ เภสัชกรอย่าง สมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.สงขลา ประจำอยู่ บ่อยครั้งที่เขาต้องขู่ให้คนที่จะมาซื้อยาเปลี่ยนไปตรวจรับการรักษาที่โรงพยาบาลแทนที่จะมาซื้อยากินเองอย่างนี้ อย่างรายล่าสุดที่เพิ่งเดินพ้นประตูไป นั่นก็แวะเวียนมาด้วยอาการเก๊าท์ตั้งแต่ปีที่แล้ว
“จริงๆ เราก็ไม่อยากทำอย่างนั้นหรอก” ตามกระบวนการรักษา ความรู้เรื่องการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัย หรือการแยกแยะขั้นพื้นฐานว่า คนที่มาซื้อยาน่าจะเป็นโรคอะไร มักจะเป็นความรู้ที่ตัวเภสัชกรเองต้องมีติดตัวอยู่แล้ว บวกกับความคาดหวังกับคนไข้ที่มาซื้อยาแล้วต้องได้ผล สิ่งที่เกิดขึ้นกับร้านยา และเภสัชกรจึงมักกลายเป็น จ่ายยา เฝ้าดูอาการ หากไม่ดีขึ้นจึงส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษา
“แล้วก็กำกับการใช้ยาของคนไข้ เราต้องถามอาการเบื้องต้น การแพ้ยา โรคร่วม โรคประจำตัว การกินยาเข้าได้กับร่างกายของคนไข้หรือไม่” นั่นคือหน้าที่ในวิชาชีพที่ถูกบัญญัติไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เภสัชกรทุกคนจะทำได้แบบนั้น
* เมื่อวิชาชีพมีไว้แขวน
ในโลกที่ทุกคนต่างพยายามเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะในวันที่การดูแลสุขภาพถือเป็นเรื่องที่เราต่างหันมาให้ความสนใจเป็นอันดับแรกๆ การเตรียมตัวเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย รวมไปถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ยาแต่ละชนิดได้เข้ามาท้าทายวิชาชีพของคนจ่ายอย่าง อย่างเภสัชกรไปโดยปริยาย
“ถ้าทุกคนมีความรู้จากอินเทอร์เน็ตมาแล้ว เราก็ควรต้องทำหน้าที่เป็นผู้ที่มีความรู้มากกว่าออนไลน์” ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.สงขลาย้ำถึงความสำคัญของคนเป็นเภสัชกร
เขาอธิบายว่า สิ่งที่เภสัชกรต้องเข้าไปช่วยในการใช้ยาก็คือ การแนะนำความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องมากขึ้น ตั้งแต่การซักถามอาการ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ก่อนที่จะจ่ายยาให้กับคนไข้ได้
แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในร้านยาหลายๆ แห่งก็คือ “ผู้ปฏิบัติงานแทนเภสัชกร” มีความรู้เพียงพอ หรือ ตระหนักถึงรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน สมพงษ์ยอมรับว่า การทำงานของเภสัชกรนั้นมี 2 ฟังก์ชั่น คือ ธุรกิจ และวิชาชีพที่ต้องบาลานซ์ให้สมดุล ไม่อย่างนั้น ร้านยาก็จะมีสถานะไม่ต่างจาก “พ่อค้า” ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องเข้าใจ และแยกแยะสิ่งเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน
การที่ “คนจ่ายยา” เป็นคนละคนกับชื่อบน “ป้ายวิชาชีพ” จึงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในร้านยาหลายแห่ง และคนส่วนใหญ่มักไม่ทันสังเกตเห็น หรือ ที่เรียกกันในวงการว่า “เภสัชกรแขวนป้าย”
“เภสัชกรไม่พอ ไม่จริง” เภสัชกรที่คร่ำหวอดในวงการมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีอย่างเขายืนยัน
จริงอยู่ที่เมื่อก่อน เภสัชกรถูกผลิตออกมาเพียงปีละหลักพันคน แต่ปัจจุบันสัดส่วนเภสัชกรจบใหม่นั้นมีราว 3-4 หมื่นคนแล้ว ขณะที่ร้านยาทั่วประเทศก็มีเพียง 2 หมื่นร้าน
“ปัญหาคือ หนึ่ง ไม่ไปทำหน้าที่ สอง การบังคับใช้ทางกฎหมายไม่ได้เป็นไปตามนั้น” นั่นจึงกลายเป็นช่องโหว่งที่เกิดขึ้นในวงการเภสัช ตามข้อกฎหมาย เภสัชกรต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย 3 ชั่วโมง แต่นอกเหนือจากนั้นกลับมี “คนอื่น” ร่วมปฏิบัติหน้าที่แทน
หากเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานทั่วๆ ไปค่าใช้จ่ายร้านยาต่อเดือนจะมีอยู่ราว 40,000 - 50,000 บาท บางแห่ง ขณะที่การแขวนป้าย “ต้นทุน” ของ “ผู้รับอนุญาต” จะถูกลงเหลือเพียง 10,000 บาทเท่านั้น
เมื่อต้นทุน “ถูกลง” ความรู้ และความเหมาะสมในการจ่ายยาให้กับคนซื้อก็ “ถูกลง” ตามไปด้วย
* มองให้ลึกกว่าเคาน์เตอร์จ่ายยา
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะคิดว่า ปกติทุกวันนี้ คนซื้อยาก็เซิร์ชชื่อแล้วไปซื้อยาอยู่แล้ว การมีหรือไม่มีเภสัชก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร
“ถามว่าโรคมีการเปลี่ยนแปลงเสมอไหม เมื่อยาก็มีการเปลี่ยนแปลงชนิดหรือส่วนผสมอยู่เสมอ แล้วเขาได้มีการติดตามเรื่องโรค ยา หรือเวชปฏิบัติในการรักษาหรือเปล่า”
นั่นจึงเป็นความแตกต่างของคนในองค์กรวิชาชีพที่จะมีการให้การศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
“ถ้าอย่างนั้น ใครคือผู้โชคร้ายจากความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเขา”
เรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลาถึงสถานการณ์การใช้ยาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตัวของยาในพื้นที่ ความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาของคนไข้ หรือแม้แต่ยาที่ถูกผสมขึ้นจากร้านยาเพื่อจำหน่ายเองก็ตาม ซึ่งเภสัชกรเป็นเหมือนผู้ควบคุมให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
“ถ้าร้านยาที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนหน้าด่านของการคัดกรองผู้ป่วยนั้นปล่อยปละละเลย หรือจ่ายยาโดยไม่ถามอาการ จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้นั้น เจ็บป่วยเล็กน้อยก็เดินเข้าร้านยาก่อนที่จะไปสถานพยาบาล”
ในมุมนี้ ร้านยากับสถานพยาบาลจึงถือเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของระบบการคัดกรอง ตรวจสอบย้อนกลับกรณีที่ยามีปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่า เรื่องยานั้นมีประชาชนน้อยมากที่จะเอาใจใส่อย่างจริงจัง
“ส่วนใหญ่มักจะขอยาแรงๆ ให้หายไวๆ มากกว่าจะฟังคิอธิบายการใช้ยา หรือผลข้างเคียง” เธอบอก
สำหรับ จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสภาเภสัชกรรมยอมรับว่า กรณีการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกวงการ แต่ในปัจจุบันนั้นสถานการณ์ดีขึ้นมากจากข้อกฎหมาย หรือปริมาณของเภสัชกรจบใหม่ที่เพิ่มขึ้น
แต่สิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาก็คือ ฐานข้อมูลร้านขายยาทั่วประเทศในระบบสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ค่อนข้างมีปัญหามาก ซึ่งมีตัวเลขที่ขัดแย้งกันอยู่ตั้งแต่ 15,000 ไปจนถึง 20,000 กว่าร้าน
“ตรงนี้ก็คือมีคำอธิบายตลกๆ ว่า ตอนขอเขามีอยู่แล้ว พอเปิดร้านถ้าเขาผิดก็จะผิดเรื่องผู้ขออนุญาตจะผิดแค่มาตรา 32 คือ ถ้าเภสัชกรไม่อยู่ร้านแล้วเจ้าของไปแอบขายยาอันตรายก็จะผิดแค่โทษปรับ”
ขณะในทางปฏิบัติก็คือ เมื่อมีการตรวจพบว่าไม่มีเภสัชกรประจำร้าน เจ้าของร้านก็จะมาเป็นคนจ่ายค่าปรับที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้วทุกอย่างก็จบเรื่อง
“หลังๆ ถึงเริ่มมีโทษทางปกครองในเรื่องของการพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ขั้นตอนของคณะกรรมการยาอยู่ โดยมีการใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 ก็หลายร้อยกรณีเหมือนกัน”
* แก้ที่คลื่นลูกใหม่
นอกจากการบังคับใช้ข้อปฏิบัติทางวิชาชีพ ตลอดจนข้อกฎหมายเพื่อป้องปรามปัญหาที่จะมีเภสัชกรนอกแถว การปลูกฝัง “เภสัชกรเลือดใหม่” ก็ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยกำกับดูแลปัญหาทำนองนี้ให้เกิดขึ้นในวงการคนจ่ายยาให้น้อยที่สุดได้
อย่าง นิว - ธัญลักษณ์ ลีฬหาวงศ์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 6 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่โตขึ้นมากับร้านยาจนกลายเป็นเส้นทางที่เธอเลือก แต่การได้มาเรียนรู้ระบบการทำงานในร้านยาที่ไม่ใช่แค่การจ่ายยาให้กับคนซื้อนั้นทำให้เธอมองเห็นยากว้างกว่าที่คิดขึ้นเยอะ
“อย่างหน้าร้าน การซักประวัติ การเลือกยา การจ่ายยา หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องยา อย่างการบริหารกล้ามเนื้อของคนไข้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จะมาซื้อยากินให้หายซึ่งมันเป็นปลายทาง แต่ต้นทางก็คือ เขาต้องปรับพฤติกรรมด้วย”
ขณะที่ ลูกไม้ - ภัคจิรา ภควัตชัย นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 6 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เภสัชกรถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการรักษาไปต่อได้
“หมอเขาก็วินิจฉัยโรคมา แต่บางทีเขาอาจจะตกหล่นในเรื่องของยาไป เพราะหมออาจจะไม่ได้ลงลึกเรื่องยาเท่าไหร่ การมีเภสัชจะช่วยตรวจสอบ ตลอดจนคัดกรองยา รวมทั้งอธิบายยาให้กับคนไข้ได้ โดยเฉพาะวิชาชีพอย่างเราที่ไม่ได้เรียนแค่ความรู้อย่างเดียว แต่เราเรียนทั้งด้านสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย”
ส่วน กิตติภัทท์ ยงพานิชกุล นักศึกษาเภสัชศาสตร์ จาก มอ.หาดใหญ่ ยอมรับว่าความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างคนที่ยืนเคาน์เตอร์ยาทั่วไปกับเภสัชกรนั้นนอกจากความรู้ ก็คือ ลักษณะทางวิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้เขาเองเจอกับตัวมาตั้งแต่เด็กๆ
“เคยไปร้านยาครั้งหนึ่งตอนเด็ก บอกว่าเราปวดแขน เขาก็หยิบยามาให้หลอดหนึ่งแล้วก็ไม่พูดอะไรเลย ซึ่งพอเราได้มาเรียนด้านนี้จริงๆ ถึงได้รู้ว่า มันมีรายละเอียดอะไรมากกว่าการยื่นยาให้คนไข้กลับไปใช้เองตั้งเยอะ”
ที่สุดแล้ว ความตระหนัก และการเอาใจใส่ทั้งระบบ ตั้งแต่การกำกับดูแลกันของคนในองค์กรวิชาชีพ ไปจนถึงความเอาใจใส่ของคนใช้ยาเองก็จะถือเป็นเกราะป้องกันความบกพร่องจากใครบางคนที่จะ “ออกนอกแถว” ไปเป็นพ่อค้ายาโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาได้
ต้องไม่ลืมว่า การลด “ต้นทุน” ของร้านยาให้ถูกลงเพื่อทำกำไรนั้น ไม่ได้หมายความว่า “ค่าชีวิต” ของคนใช้ยาจะถูกลงตามไปด้วย