อ่านเกม‘ทักษิณ’ ท้ารบ-เกทับ ศึก'แดง' ข่ม' น้ำเงิน'
อ่านเกม‘ทักษิณ’ ท้ารบ-เกทับ ปราบ‘มาเฟีย’แดงข่มน้ำเงิน ‘ศึกพลังงาน’วัดพลังพท.-รทสช. จับตาสนามอบจ.เกมสางแค้น ยุทธศาสตร์‘ไล่หนู’ภาค 2
KEY
POINTS
- เกมชิงไหวชิงพริบในขั้วรัฐบาล ห็นสัญญาณชัดถึง การ “เกทับ” ในเชิงนโยบาย และในเชิงการเมือง ในแต่ละพรรค
- ปราบ“ผู้มีอิทธิพล” ศึกแดงข่มน้ำเงิน
- วิชั่นแก้“ไฟแพง”เกทับ-บลัฟแแหลก “เพื่อไทย-รวมไทยสร้างชาติ”
- สนาม อบจ.ยุทธศาสตร์ไล่หนู-ตีงูภาค 2
- กฎหมายประชามติดอง 180 วัน เกมเพื่อไทย เอาคืนสีน้ำเงิน
วาทะฉะเดือดพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ว่าเป็น “อีแอบ” ไม่ใช่เลือดสุพรรณ ของอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” กลางวงปาฐกถาสส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยมีชนวนเหตุมาจากการประชุม ครม.เมื่อ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.ก.มาตรการทางภาษีระหว่างประเทศเข้าสู่ที่ประชุมครม. 2 ฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล แต่กลับพบว่า 7 รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และกล้าธรรม ลาประชุม
แน่นอนว่า นัยดังกล่าวนอกเหนือจะเป็นการโชว์แสนยานุภาพของ “นายใหญ่” บ้านจันทร์ส่องหล้า ในการสยบความอหังกาของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ประหนึ่งว่า ไม่ได้เป็นฝ่าย “ถือไพ่เหนือ” แต่เพียงฝ่ายเดียวแล้ว
ยังนับเป็นการสะท้อนถึงแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาล ท่ามกลางเกมวัดพลัง ที่สะท้อนออกมาให้เห็นระลอกแล้วระลอกเล่า
แม้บรรดา“บิ๊กรัฐบาล” จะออกมาประสานเสียงชิงสยบร้าวพรรคร่วม ไม่ว่าจะเป็น“นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันเสียงแข็ง "ทักษิณพูดจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ทำงาน ที่มีพรรคร่วมอยู่ด้วยกัน ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร "
หรือแม้แต่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มั่นอกมั่นใจว่า อีแอบไม่ได้หมายถึงตนเองซึ่งอยู่ร่วมประชุมในวันดังกล่าว และไม่จำเป็นต้องเคลียร์กัน
ทว่า ในทางดุลอำนาจแล้ว จนถึงวินาทีนี้ ยังเห็นหลายฉากหลายตอนที่สะท้อนถึงเกมชิงไหวชิงพริบในขั้วรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ถืออำนาจฝ่ายบริหาร เห็นได้ชัดถึงเกมขู่ยุบสภาฯ ที่ถูกปล่อยโดยพลพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ที่มีจำนวนสส.เป็นรอง แต่ถือแต้มต่อในสภาสูง ซึ่งเป็นป้อมปราการสุดท้าย ในการพิจารณาวาระ รวมถึงกฎหมายสำคัญ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เวลานี้จะเห็นสัญญาณการ “เกทับ” ทั้งในเชิงนโยบาย และในเชิงการเมือง ในแต่ละพรรค
ปราบ“ผู้มีอิทธิพล”ศึกแดงข่มน้ำเงิน
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ “ทักษิณ” ชิงเกมเร็ว โชว์ไอเดียตั้งทีมเฉพาะกิจ ปราบผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด ในห้วงที่กำลังมีกระแสจากเหตุยิง “สจ.โต้ง”ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ เสียชีวิต โดยมีมูลเหตุสำคัญมาจากการเมืองท้องถิ่นปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคสีน้ำเงิน
แถมนายใหญ่ยังส่งสัญญาณชัด ดัน“นายกฯอิ๊งค์” เป็นหัวหน้าชุดคุมทีมด้วยตนเอง จนถูกมองว่า เป็นการส่งสัญญาณ ยิงปืนนัดเดียวหวังได้นก 2 ตัว ทั้งการประชันนโยบาย แถมยังได้กระทบชิ่งไปยังพรรคภูมิใจไทย ที่คุมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
หากยังจำกันได้ในช่วงต้นรัฐบาลเศรษฐา ได้เคยเกิดเหตุการณ์ที่ “ประวีณ จันทร์คล้าย”หรือ“กำนันนก นครปฐม”สั่งลั่นไกปลิดชีพ “พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว”หรือ“สารวัตรแบงค์” กลางงานเลี้ยงที่บ้านพักส่วนตัว
เหตุการณ์นั้นไม่เพียงแต่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วอาณาจักรองค์พระเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นไฟลามทุ่งไปทั่วทุกวงการ กระทั่งมีการจัดระเบียบ และทำลิสต์รายชื่อผู้มีอิทธิพลโดย “มท.หนู" อนุทิน แต่งตั้ง “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย เวลานั้นคุมทีม
ทว่า จนถึงเวลานี้ มีคำถามว่า ในวันเปลี่ยนผ่านอำนาจกระทรวงคลองหลอด “ชาดา”หลุดเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว ความคืบหน้าการจัดทำรายชื่อผู้มีอิทธิพลดำเนินการไปถึงขั้นไหน
ดีเบต“ค่าไฟ”เกทับ “พท.-รทสช.”
ช็อตต่อมา คือการเกทับ “นโยบายพลังงาน” ระหว่าง “เพื่อไทย” และ“รวมไทยสร้างชาติ” ที่คุมกระทรวงพลังงาน โดยพยายามตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับคนระดับฐานล่าง ไว้ที่หน่วยละ 3.99 บาท
แถมช่วงหลังยังมีคะแนนนิยมตีตื้นในเรื่องตรึงราคาค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมัน ทั้งในส่วนของ “ตัวบุคคล” และ “คะแนนนิยมพรรค”
ฉะนั้น จึงไม่แปลก ที่ในเวทีสัมมนาพรรคเพื่อไทย จะเห็นภาพ “ทักษิณ” โชว์วิชั่นแก้ปัญหาราคาค่าไฟ ที่ยังไม่เห็นด้วยกับตัวเลข 4 บาท หรือ 3.99 แต่ต้องรีดให้เหลือ “3 กลางๆ”
สนาม อบจ.ยุทธศาสตร์ไล่หนู-ตีงูภาค 2
ถัดมา คือการส่งสัญญาณช่วงชิง “ฐานการเมือง” โดยเฉพาะศึกชิงนายกอบจ.รวมถึงสมาชิกอบจ. ซึ่งจะเปิดฉากเต็มรูปแบบในช่วงเดือน ก.พ.2568 นี้
โฟกัสสนามสำคัญ อาทิ จ.ศรีสะเกษ ซึ่ง “ทักษิณ” ประกาศกร้าวกลางวงสัมมนา ต้องล้ม “นายกส้มเกลี้ยง” วิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ 6 สมัย จากค่ายสีน้ำเงินลงให้ได้
แถมล่าสุด “ทักษิณ” ยังเตรียมลงพื้นที่เพื่อช่วย “วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ” อดีตสส.ศรีสะเกษ ที่จะลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ช่วงวันที่ 30 ธ.ค.นี้อีกด้วย
หากยังจำกันได้ในการเลือกตั้งสนามใหญ่เมื่อต้นปี 2566 ศรีสะเกษถือเป็นจังหวัดแรกที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเวลานั้นยังเป็นคู่อริกับพรรคภูมิใจไทย เปิดปฏิบัติการไล่หนู-ตีงูเห่า เอาคืนสส.ที่ย้ายพรรค โดยเวลานี้เพื่อไทยมีสส.7 คน และภูมิใจไทยมีสส.2 คน
ถัดมา สนาม อบจ.ปราจีนบุรี ที่เวลานี้ไฟกำลังลุกโชน จากเหตุยิง “สจ.โต้ง” เสียชีวิต แน่นอนว่า เชื่อมโยงกับการเมืองในท้องถิ่น และระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงเกมการเมืองระหว่าง “บ้านใหญ่วิลาวัลย์”ภายใต้ชายคาสีน้ำเงิน และพรรคเพื่อไทย ที่เปิดหน้าหนุน “สจ.จอย” ณภาภัช อัญชสาณิชมน ภรรยา สจ.โต้ง ชิงนายก อบจ.ปราจีน อย่างชัดเจน
ฉะนั้น ภาพของการการส่งพวงหรีดแสดงความอาลัย สจ.โต้ “ชัยเมศร์” ของ“ทักษิณ”ย่อมเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ในการเปิดฉากรบ ต่อจากนี้
อีกหนึ่งจังหวัดที่น่าสนใจคือ ศึกชิง “นายกอบจ.เชียงราย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสนาม ที่อยู่ในลิสต์พรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดเกมเอาคืน “พรรคสีน้ำเงิน”
สนามนี้พรรคเพื่อไทย เตรียมส่ง “สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช” ศรีภรรยา “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ชน “อทิตาธร วันไชยธนวงค์” นายกอบจ.คนปัจจุบัน และเป็นลูกสาวของ "สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์" บ้านใหญ่เชียงราย
ในการเลือกตั้งสนามใหญ่เมื่อต้นปี 2566 "รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์" อดีต สส.เชียงราย และเป็นหลานชายสมบูรณ์ ขนทีมบ้านใหญ่ย้ายสังกัดจากพรรคเพื่อไทย ไปสวมเสื้อภูมิใจไทย ลงสมัครสส.เชียงราย แต่สอบตก
เป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลก หากสนาม อบจ.เชียงรายจะเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ ที่ "นายใหญ่"จะใช้สางแค้นบ้านใหญ่สีน้ำเงินที่แปรพักตร์จากพรรคเพื่อไทย
กฎหมายประชามติดอง 180 วัน
อีกวาระร้อน ที่ต้องจับตานั่นคือ “เกมแก้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งถือเป็นเรือธงลำดับต้นๆ ของพรรคเพื่อไทย ที่วาดฝันว่า จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในรัฐบาลนี้
ทว่า สัญญาณเวลานี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า แผนแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ เป็นอันต้องถูก “ดับฝัน”ลง อันเนื่องมาจากกฎหมายประชามติ ที่เวลานี้ค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของสภา
ก่อนหน้านี้ ได้สะท้อนภาพชัด ถึงศึกวัดพลังระหว่าง “ดุลอำนาจสีแดง” ที่เห็นชอบเกณฑ์"ประชามติชั้นเดียว" และ “ดุลอำนาจสีน้ำเงิน” ทั้งสส.ภูมิใจไทย และสว.สายสีน้ำเงิน ที่เดินเกมหักดิบ เห็นชอบหลักการ “ประชามติ 2 ชั้น”
หากเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จะแล้วเสร็จตามไทม์ไลน์ ที่พรรคเพื่อไทยวางไว้อย่างแน่นอน
ล่าสุดจึงเห็นสัญญาณชัดจากพรรคเพื่อไทย “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเกมเอาคืน ด้วยการยึดมติครั้งแรก คือการใช้ “เสียงข้างมากชั้นเดียว” ตามหลักการเดิมของสภาฯ ที่ได้ลงมติไปแล้ว เป็นเหตุให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต้องพักไป 180 วัน หรือ 6 เดือนนับจากนี้ ก่อนการประกาศใช้
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่หาเสียงไว้ ฉะนั้นการดองร่างไว้ 180 วัน จึงเป็นการส่งสัญญาณเอาคืนจากพรรคเพื่อไทย ส่งผ่านไปยังพรรคสีน้ำเงิน ทำนองที่ว่า เมื่อฝั่งหนึ่งไม่สมหวัง อีกฝั่งก็ไม่ได้ตามที่ตนเองต้องการเช่นกัน
จับอาการพรรคร่วมเวลานี้ แม้บรรดาคีย์แมนต่างฝ่ายต่างประสานเสียงว่า ยังเหนียวแน่นไร้สัญญาณแตกหัก แต่ท่ามกลางสารพัดเกมชิงไหวชิงพริบที่เกิดขึ้นเวลานี้ ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงเกมการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างสาดกระสุนใส่กัน แบบไม่มีใครยอมใคร