สธ.ชงศบค. 8 เม.ย.นี้ ยกเลิกตรวจโควิด RT-PCR ผู้เดินทางเข้าประเทศ
สธ.ชงศบค.ยกเลิกตรวจRT-PCRผู้เดินทางเข้าประเทศ คาดหลังสงกรานต์โควิด19เพิ่มขึ้นแน่นอน ขอคนไทย“ไม่ฉีดน้ำ แต่ฉีดวัคซีน” สั่งทุกจ.เปิดฉีดWalk in ย้ำปฏิบัติตามคำแนะนำสธ. ช่วยประเทศผ่านจุดเสี่ยงที่สุด “ยาโมลนูพิราเวียร์”จ่อเข้าไทยอีก 20 ล้านเม็ด เร่งศึกษาผลิตเอง
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานมอบโล่รางวัลให้กับ 7 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนโควิด19 ในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุเกิน 70 % ได้แก่ น่าน ,นนทบุรี , สมุทรปราการ ,ภูเก็ต ,มหาสารคาม ,ลำพูน และชัยนาท และ 12 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้สูงอายุดีเด่น ได้แก่ อ่างทอง เชียงใหม่ อยุธยา ยโสธร ลำปาง สมุทรสงคราม เชียงราย ระยอง ลพบุรี ชลบุรี แพร่ และ สระบุรี
นายอนุทิน กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด19 เป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงนี้ เพื่อลดการติดเชื้ออาการรุนแรง และเสียชีวิต ซึ่ง ปัจจุบันในจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโควิด19มากกว่า 90 % คือกลุ่มเสี่ยง 608 จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนกล่มนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุให้มากขึ้น ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในการรณรงค์ไม่ฉีดน้ำ แต่ฉีดวัคซีน โดยจะมีข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัดเพื่อเปิดวอล์คอินฉีดวัคซีนช่วงสงกรานต์อย่างเต็มที่ ขอให้อสม.ช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปรับวัคซีนด้วย
“สงกรานต์นี้มีการพบปะผู้คนมาก มีการกินเลี้ยงมาก คาดว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ตัวที่จะมาช่วยปิดความเสี่ยงคือวัคซีน หลังสงกรานต์ก็จะดีขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชน หากประชาชนปฏิบัติตนตามที่สธ.แนะนำก่อนเดินทางกลับ ประเทศไทยจะก้าวข้ามจุดเสี่ยงที่สุด ซึ่งสงกรานต์น่าจะเป็นเทศกาลใหญ่สุดท้ายแล้ว หากดูสถิติ 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อพ้นสงกรานต์ไปด้วยดี จะมีปัญหาอีกครั้ง ช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งช่วง 8 เดือนนั้นก็จะมีการบริหารจัดการเรื่องโควิด19ดีขึ้นเรื่อย ๆ ” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าประชาชนมีการเดินทางไปต่างพื้นที่ แล้วเกิดการติดเชื้อ สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลนอกสิทธิ์ได้ฟรีหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า การเข้ารักษาในรพ.ต้องมีอาการ ซึ่งปัจจุบันอยู่กับโรคโควิดมานาน มีความรู้ความเข้าใจมันมากขึ้น ดังนั้น กรณีที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด หากไม่มีอาการก็ขอให้มีการแยกตัวออกจากผู้คน หากมีอาการก็สามารถเข้ารพ.ได้
"สิ่งสำคัญที่สธ.เน้นย้ำคือก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ขอให้มีการคลีนอัพตัวเอง ไม่ไปสถานที่เสี่ยง ไม่ไปรวมกลุ่มกันมาก ก่อนเดินทางก็ตรวจ ATK หากขึ้น 2 ขีดก็งดเดินทาง เฝ้าระวังตัวเอง 7-10 วัน แล้วแต่อาการ ซึ่งปัจจุบันคนที่ติดเชื้อไม่ใช่ทุกคนที่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ เพราะทุกคนมีการฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกัน"นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 8 เม.ย.2565 สธ.จะมีการเสนอมาตรการอะไร นายอนุทิน กล่าวว่า เบื้องต้นเตรียมเสนองดการตรวจโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ในผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ โดยให้ใช้การตรวจ ATK แทน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด19 ที่กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม หากสามารถผ่านสถานการณ์ช่วงสงกรานต์ไปได้ด้วยดี จะสะท้อนว่าประชาชนมีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับโควิด19ได้ดี ถึงจะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่างๆมากขึ้น
ด้าน พญ.สุมนี วัชระสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียวประมาณ 2.07 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่า 50 % เป็นคนมีโรคประจำตัว เป็นผู้สูงอายุติดบ้าน ไม่อยากออกไปไหน กลัวโควิด คิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงไม่ได้ไปเจอใครเลยไม่ฉีด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และภาคอีสาน เขตสุขภาพที่ 10 ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ผ่านมาเราพบว่าในช่วงเทศกาลจะมีผู้ติดเชื้อในบ้านพุ่งสูงขึ้น และจากการวิเคราะห์การเสียชีวิตพบว่าจะมีการเสียชีวิตสูงหลังมีการติดเชื้อในช่วงเทศกาล.
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ยาโมนูลพิราเวียร์ จะทยอยส่งมาถึงประเทศไทย 20 ล้านเม็ด โดยล็อตแรกคาดว่าน่าจะเข้ามาราวๆ 6 ล้านเม็ดเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ อภ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาชีวสมมูลของยาดังกล่าวเพื่อดำเนินการผลิตในประเทศเอง คาดว่าน่าจะได้ทะเบียนภายในปีนี้ ซึ่งยาโมนูลพิราเวียร์ เป็นยาสำหรับรักษาโรคโควิดโดยเฉพาะ ราคานำเข้าปัจจุบันพอๆ กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่เนื่องจากยาโมนูลพิราเวียร์ ไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยโควิดอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงยังจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถผลิตได้เองก็จะทำให้มีราคาถูกลง