ฟังนักวิชาการรุ่นใหญ่ วิพากษ์ ‘ดีลโทรคมนาคม’ ท้าทายฝีมือกำกับดูแล ‘กสทช.’
ฟังนักวิชาการ วิเคราะห์ดีลใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคมไทย ที่มีทั้ง "หนุน" และ "ต้าน" หากที่สุดคือ การพิสูจน์ฝีมือเรกูเลเตอร์ ส่งสัญญาณท้าทายการกำกับดูแล กสทช. !!
ภายใต้บริบทการต่อสู้กับสถานการณ์ที่บีบบังคับหลายเด้งที่ถาโถม ทั้งโควิด สงคราม และเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างหนัก อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมลดลงอย่างน่าใจหาย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะเป็นกับเอกชนในไทย แต่ผลกระทบกระจายเป็นลูกโซ่ในวงกว้าง การควบรวมธุรกิจ และการเข้าซื้อกิจการที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ดีลในประเทศไทย คือ “ดีลทรูควบดีแทค ดีลเอไอเอสเทคโอเวอร์ 3 บีบี” กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรงคือ กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะกำกับดูแลดีลที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
ดีลยักษ์พิสูจน์ฝีมือเรกูเลเตอร์
เรื่องนี้เป็นหน้าที่หลักของ กสทช.อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะด้วยอำนาจแล้วในดีลทรูควบรวมดีแทค เคยมีประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.แต่ในท้ายที่สุด ก็มีความชัดเจนแล้วว่า กสทช. มีอำนาจ และหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 27 (11)
นอกจากนี้ ข้อ 8 ของประกาศ 2549 (ประกอบข้อ 5 และ 9 ประกาศ 2561) ยังให้อำนาจ กสทช. ห้ามการควบรวมหรืออนุมัติแบบมีเงื่อนไข สำหรับการควบรวมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการประเภทเดียวกัน เช่น ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการเชื่อมต่อโครงข่ายเช่นเดียวกัน ในกรณีดีลควบรวมทรูและดีแทค ส่วนดีลเอไอเอสซื้อหุ้น 3บีบีจะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนก็ตาม หากการควบรวมนั้นอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดการให้บริการโทรคมนาคม
ดังนั้น ในประเด็นการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค หรือการเข้าซื้อหุ้น 3บีบี ของ เอไอเอส ก็ถูกจับตามองของสังคมเพราะล้วนแต่เป็นการถือครองธุรกิจในประเทศเดียวกัน ดังนั้นสำหรับ กสทช. ชุดนี้ นับเป็น กสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จึงเป็นบทพิสูจน์การทำงานของ กสทช.ว่าจะสามารถกำกับดูแลได้อย่างเท่าทันเอกชน เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสามารถยืนหยัดรักษาผลประโยชน์ของชาติ และคุ้มครองประชาชนได้ตามอำนาจหน้าที่ของกสทช.ได้ดีเพียงใด
2 นักวิชาการรุ่นใหญ่ 'หนุน-ต้าน' ดีล ‘โทรคม’
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมืองให้มุมมอง ต่อกรณีการควบรวมทรู กับ ดีแทคในประเทศไทย เชื่อว่า จะส่งผลต่อสร้างอำนาจอธิปไตยทางด้านเทคโนโลยี เพราะโทรคมนาคมคือ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ มีผลสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีบริษัทไทยที่เป็น Tech Company ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอให้เกิดการแข่งขันได้
ส่วนประเด็นเรื่องดัชนี HHI ที่วัดการกระจุกตัวนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า HHI สูงจะส่งผลต่อราคาค่าบริการ ทั้งนี้เพราะในหลายประเทศ HHI สูงแต่ค่าบริการต่ำ เช่น จีน เป็นต้น
“ประเทศไทยเรามีหน่วยกำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภคคือ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดูแลราคาค่าบริการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ผมมองว่าการผูกขาดไม่ใช่แค่จำนวนผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ต้องลงทุนสูงจึงมีผู้ประกอบการน้อยราย แต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ เรื่องการบิดเบือนตลาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะดัชนี HHI การกระจุกตัวไม่ใช่การมีอำนาจเหนือตลาด”
การควบรวมกิจการนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การผนึกกำลัง จะทำให้เกิด Economies of scale นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย 5จีอาจนำไปสู่การปรับลดราคาค่าบริการขณะเดียวกันยังสนับสนุน New S-Curve ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ
“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค จึงต้องรอบคอบ และมองให้รอบด้านทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมืองระหว่างประเทศว่าหากเกิด Tech Company สัญชาติไทยที่เข้มแข็ง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
ทีดีอาร์ไอ ชี้ดีลโทรคมบีบตลาดสู่ผูกขาด
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย เพราะหลังจากที่ทรู และดีแทคที่กำลังเดินหน้าควบรวมกันแล้ว ตอนนี้มีเอไอเอสซื้อ 3บีบี โดย 2 ดีลนี้มีความเกี่ยวข้องกัน
ดีลหลังน่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่า การควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช. ก่อน ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า แค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม
หากการควบรวมทั้งสองดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลงเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย
การจัดการอำนาจผูกขาดของธุรกิจเอกชนโดยหน่วยงานรัฐไทย ทั้ง กสทช.หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตลอดจนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งคณะรัฐมนตรี สภาและฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะกำหนดอนาคตของทุนนิยมไทย อนาคตการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองของประเทศอย่างแน่นอน
ดร.สมเกียรติ บอกด้วยว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดูเหมือนเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงประมาณ 120-150 ปีที่แล้ว ที่มีการควบรวมบริษัทน้ำมัน บริษัทรถไฟ และธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนในวงกว้าง จนภายหลังประชาชนทนไม่ไหวอีกต่อไป ผลักดันให้เกิด “ยุคก้าวหน้า” (Progressive Era) ที่เกิดการต่อต้านทุนผูกขาดในวงกว้าง เรียกนายทุนผูกขาดว่า Robber Baron เสมือนเป็น “โจรปล้นประชาชน โดยตั้งคำถามว่า คนไทยจะยอมทนกับบรรดาทุนผูกขาด และรัฐที่เข้าข้างทุนใหญ่ไปอีกนานแค่ไหน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์