เปิดโผ 10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2566
สดร.เปิดโผ 10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2566 มัดรวมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ และเหตุการณ์ในแวดวงดาราศาสตร์ ชวนประชาชนติดตามตลอดทั้งปี
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ร่วมกันแถลง 10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2566 ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ อาทิ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเป็นจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน หรือที่เรียกกันว่า Super Blue Moon ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ฯลฯ
ชวนเกาะกระแสดาราศาสตร์โลกในปีหน้า กับโปรเจคสำรวจระบบสุริยะของหลายประเทศ จับตาการค้นพบใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ผลงานวิจัยของนักดาราศาสตร์ไทยที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ ที่สำคัญคือก้าวต่อไปของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติที่จะยกระดับงานวิจัยของไทยให้ก้าวไปสู่ World Class เปิดมิติใหม่กับงานวิจัยโบราณดาราศาสตร์ที่ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือย้อนรอยโบราณคดี
ส่วนงานด้านพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูงยังคงรุดหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนากำลังคน และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (Deep Tech) ภายในประเทศ ส่วนงานด้านการบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์สู่สังคม เตรียมเปิดให้บริการหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 4 ของไทยที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมผุดอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล มุ่งหวังกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" ที่น่าติดตามในปี 2566
1. ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ได้แก่
ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเต็มดวงครั้งที่สองของเดือน (Super Blue Moon) ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ จันทรุปราคา - สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี
2.ฝนดาวตกน่าติดตาม โดดเด่นที่สุด ได้แก่
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือฝนวันดาวตกวันแม่ คืน 12 - เช้า 13 ส.ค. 66 คาดการณ์อัตราการตกสูงสุด 100 ดวง/ ชั่วโมง และ ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - เช้า 15 ธ.ค. 66 คาดการณ์อัตราการตกสูงสุด 150 ดวง/ ชั่วโมง
3.เกาะกระแสวงการดาราศาสตร์โลก หลายประเทศทั่วโลกกำหนดภารกิจส่งยานไปสำรวจระบบสุริยะ ได้แก่
การสำรวจดวงอาทิตย์ : ยาน Aditya-L1 (อินเดีย) การสำรวจดวงจันทร์ : โครงการ Commercial Lunar Payload Services (CLPS) ของภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐของสหรัฐอเมริกา / ยานสำรวจจากองค์การอวกาศของภาครัฐ อาทิ Chandrayaan-3 ของอินเดีย Luna 25 ของรัสเซีย SLIM ของญี่ปุ่น และ Seven sisters ของออสเตรเลีย การสำรวจวัตถุอื่นในระบบสุริยะ : Psyche ยานโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยของสหรัฐอเมริกา/ JUICE (Jupiter Icy Moons Explorer) ยานสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งขนาดใหญ่ของดาวพฤหัสบดี (ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA)
4.กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์
กับสุดยอดการค้นพบครั้งใหม่ในอนาคต มาติดตามกันต่อไปว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทันสมัยที่สุดนี้จะไขปริศนาใดอีกในเอกภพ และจะนำมาซึ่งการค้นพบใหม่ๆ ที่ไม่คาดฝันอะไรอีกบ้าง
5.จับตางานวิจัยดาราศาสตร์ที่โดดเด่นระดับโลก ผลงานของนักดาราศาสตร์ไทยคลื่นลูกใหม่ ในหลากหลายสาขา ได้แก่
จักรวาลวิทยาและฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง จักรวาลวิทยาและดาราศาสตร์ทฤษฎี ดาราศาสตร์วิทยุ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ดาวฤกษ์
6.ก้าวต่อไปของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ
เตรียมเปิดดำเนินการกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เก็บข้อมูลวัตถุท้องฟ้าจริง เพื่อศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ พร้อมวางแผนพัฒนากำลังคน สร้างนักดาราศาสตร์วิทยุรุ่นใหม่ เพื่อร่วมทำงานวิจัยในระดับ World Class
7.งานพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง
เผยสุดยอดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีคลื่นวิทยุความถี่สูง และอุปกรณ์ทัศนศาสตร์ที่ต่อยอดจากดาราศาสตร์ไปสู่สาขาอื่น อาทิ เครื่องรับสัญญาวิทยุย่านคิว ย่านซี โคโรนากราฟรูปแบบใหม่ สเปกโทรกราฟความละเอียดต่ำ ฯลฯ
8.โบราณดาราศาสตร์
ดาราศาสตร์ย้อนรอยโบราณคดี การใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ศึกษาการวางทิศของศาสนสถาน และโบราณสถาน ได้แก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทพิมาย ที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ความเชื่อ ประเพณี และปฏิทินสุริย-จันทรคติ การใช้ตำแหน่งดวงดาวสำคัญ ร่วมกับตำแหน่งดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ สอบเทียบวันเดือนปีในจารึกเป็นปฏิทินเกรกอเรียนได้ ที่สำคัญมีการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องการหมุนควงของจุดวิษุวัต มาใช้ในการไขอายุของศาสนสถานและโบราณสถานได้
9.หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 4 ของไทย พร้อมเปิดดำเนินการปลายปี 2566
10.ดาราศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล
ผลักดันโครงการนำร่องเพื่อศึกษา และผลิตต้นแบบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็น สามารถสร้างจินตนาการ และเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป