อินโดนีเซีย พบ คลื่นเสียง ‘แยกขยะพลาสติก’ ออกจากมหาสมุทร

อินโดนีเซีย พบ คลื่นเสียง ‘แยกขยะพลาสติก’ ออกจากมหาสมุทร

นักวิทย์ฯ จากอินโดนีเซีย ค้นพบ คลื่นเสียงช่วยจับไมโครพลาสติก วิธีที่จะช่วยแยกขยะพลาสติกออกจากแหล่งน้ำหรือมหาสมุทรแทนการใช้ฟิลเตอร์ดักจับขยะแบบเดิม

ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่ยากจะย่อยสลาย เมื่อทิ้งไว้นานจนสะสมเป็นกองขยะรวมตัวกันอยู่ในมหาสมุทรเป็นชิ้นมหึมา ถือเป็นภัยคุกคามที่ค่อย ๆ ทวีคูณเพิ่มมากขึ้น ทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

นักรณรงค์หลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Charles Moore ผู้ก่อตั้ง Algalita Marine Research and Education ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรในแคลิฟอร์เนีย กังวลอย่างมากเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่เพิ่มปริมาณขึ้นปีละ 12 ล้านตัน

ขณะเดียวกัน Dhany Arifianto นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Teknologi Sepulh Nopember ประเทศอินโดนีเซีย ค้นพบ วิธีแยกไมโครพลาสติกออกจากแหล่งน้ำ โดยไม่ใช้ตัวกรองหรือฟิลเตอร์ที่มีราคาแพง หรือการดักจับด้วยน้ำมัน ฯลฯ

ซึ่งคลื่นเสียงที่ Arifianto พบ คาดการณ์ว่าหากพัฒนามากขึ้น และนำไปทดสอบทั้งผลดีและผลเสีย เพื่อจะทำให้มีความสามารถในการช่วยแยกขยะพลาสติกออกจากมหาสมุทรได้จริง ทำให้สามารถจับขยะได้เยอะ ๆ และรวดเร็วขึ้นมากกว่าวิธีที่ผ่านมา 

อินโดนีเซีย พบ คลื่นเสียง ‘แยกขยะพลาสติก’ ออกจากมหาสมุทร

การใช้คลื่นเสียงในการแยกไมโครพลาสติก ทำได้ด้วยการปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในท่อน้ำ คลื่นเสียงจะทำให้โมเลกุลของน้ำ และไมโครพลาสติกสั่นสะเทือนในความถี่ที่ต่างกัน ไมโครพลาสติกจะเคลื่อนที่รวมตัวกัน จากนั้นจึงทำการแยกไมโครพลาสติกออกจากสายน้ำได้

โดยผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ สามารถแยกไมโครพลาสติกในน้ำจืดได้ถึง 95% ขณะที่ในน้ำเค็มเขาตั้งเป้าให้มีประสิทธิภาพ 58% ก็เพียงพอ

ระบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้ โดย Arifianto วางแผนจะใช้ช่องแคบให้เป็นประโยชน์ เพื่อทดสอบนวัตกรรมนี้ เช่น ช่องแคบซุนดาของอินโดนีเซียที่มีความกว้าง 28 กิโลเมตร สามารถวางท่อคลื่นอัลตราโซนิกเพื่อแยกไมโครพลาสติกได้

“หากพูดถึงคลื่นเสียง หลายคนคงนึกถึงเสียงในแง่ของสิ่งที่ได้ยิน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ คลื่นเสียงเป็นคลื่นแรงดัน เมื่อน้ำที่ปนเปื้อนไหลผ่านท่อ น้ำที่เป็นของเหลวก็ส่งเสียงออกมา แต่อนุภาคขนาดเล็กที่เป็นของแข็งจะรู้สึกถึงแรงกดที่แตกต่างออกไป ทำให้โมเลกุลนั้นถูกขับออกมา” Arifianto กล่าว 

ทั้งนี้ นวัตกรรมที่กล่าวไปข้างต้น ยังอยู่กระบวนการขั้นเริ่มต้นที่ต้องพัฒนาต่อไป และจะต้องคำนึงถึงผลกระทบจากคลื่นเสียงที่ปล่อยออกมาด้วย เช่น สัตว์ทะเลจะได้รับผลกระทบจากคลื่นเสียงหรือไม่หากนำไปใช้ในธรรมชาติจริง ๆ

หากจะทำความสะอาดมหาสมุทรทั้งหมด คงทำได้ยาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การใช้พลาสติกอย่างชาญฉลาด หรือตามที่เว็บไซต์ Teknologi Sepulh Nopember เขียนไว้เป็นแบนเนอร์พาดหัวว่า “อย่างแรก เราเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับพลาสติก จากนั้นเราเปลี่ยนโลก”

 

ที่มา: cosmosmagazine