เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน Data Center สู่ความยั่งยืน

เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน Data Center สู่ความยั่งยืน

เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน 'Data Center' สู่ความยั่งยืน จากการเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนผ่านดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อความยั่งยืน ความยืดหยุ่น การขยาย และการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ” ภายในงาน NextGen Data Center Conference 2024

การเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนผ่านดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อความยั่งยืน ความยืดหยุ่น การขยาย และการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ” ภายในงาน NextGen Data Center Conference 2024 มีผู้บริหารจาก 4 บริษัทได้แก่ “ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถสิงหรา ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย), ปรเมศวร์ เรืองหนู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSTC Academy สถาบันอบรมเสริมความรู้ด้านดาต้าเซ็นเตอร์, จุฑา พันธุ์แสง ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เทเลเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด และวุฒิพงษ์ ประวิตรวงศ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประเทศไทยทีม A บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมดาต้าในประเทศไทยขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนจากหลายแนวทาง

เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน Data Center สู่ความยั่งยืน

เร่งพัฒนาด้านกำลังคน

ปรเมศวร์ เรืองหนู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSTC Academy สถาบันอบรมเสริมความรู้ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเข้ามาบทบาทอย่างมากในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งในภูมิภาคนี้และทั่วโลก แต่ก่อนการใช้กำลังไฟฟ้าภายในดาต้าเซ็นเตอร์จะอยู่ที่ราวๆ 3 – 5 กิโลวัตต์ หากแต่พอเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นระดับ Hyperscaler ต้องใช้กำลังไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 15 – 20 กิโลวัตต์

ดังนั้น Generative AI จึงกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก เพราะเอไอจำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลในการประมวลผล ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังไฟฟ้าที่ต้องใช้ภายในดาต้าเซ็นเตอร์สูงถึง 70 กิโลวัตต์ต่อแร็ค (Rack) ได้เลย

ขณะนี้กำลังคนที่มีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์กำลังขาด เมืองไทยยังคงต้องการบุคลากรด้านวิศวกรดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็ต้องอัปสกิลตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตลอดเวลา อย่างไรก็ดี PSTC Academy จะเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ส่งเสริมทักษะและอัปสกิลให้กับบุคลากรในสายงานนี้ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและในระดับสากลต่อไป

เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน Data Center สู่ความยั่งยืน

ใช้พลังงานหมุนเวียน

จุฑา พันธุ์แสง ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เทเลเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยมีทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งจุดเด่นของประเทศไทยที่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้คือ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)

“ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเป็นศูนย์กลางในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของไทยก็ยังมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ เอื้อต่อการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์” จุฑา กล่าว

“สิ่งที่เป็นแรงจูงใจของนักลงทุนอีกหนึ่งอย่างคือ การทำให้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศนั้นเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด หรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เพราะปัจจุบันผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบการนักลงทุนนั้นตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น เทเลเฮ้าส์ เป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เรามีจุดมุ่งหมายต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งพัฒนาสังคมดิจิทัลของไทยให้เป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ที่สำคัญ” หัวหน้าฝ่ายการตลาด เทเลเฮ้าส์ ชี้จุดสรุป

เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน Data Center สู่ความยั่งยืน

บี.กริมแนะตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ใกล้โรงไฟฟ้า

วุฒิพงษ์ ประวิตรวงศ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประเทศไทยทีม A บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บี.กริมมีความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าให้กับดาต้าเซ็นเตอร์อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมแนะว่าหากดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งในนิคมอุตสาหกรรม จะทำให้มีเสถียรภาพในการจัดหาไฟฟ้าสูง เนื่องจากระยะทางระหว่างศูนย์ข้อมูลและโรงจ่ายไฟฟ้าอยู่ไม่ห่างกัน ความเสี่ยงจึงมีน้อยลง

ไทยพร้อมป้อนไฟฟ้าสีเขียว

การไฟฟ้าเป็นหน่วยงานที่สำคัญต่อดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีผลต่อความเสถียรของระบบ แต่ปัจจุบันบริษัทดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ดังนั้น บี.กริมจึงเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนในการจัดหาไฟฟ้าให้บริษัทเหล่านี้มากขึ้น และย้ำว่า หากดาต้าเซ็นเตอร์มาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า อาจช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากบริษัทดาต้าเซ็นเตอร์สามารถก่อตั้งในพื้นที่ใกล้กันจนกลายเป็น “ดาต้าแคมปัส” จะช่วยดึงดูดโรงไฟฟ้าให้มาตั้งใกล้ดาต้าแคมปัส เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสที่จะพัฒนาระบบพลังงานรวมศูนย์ (District cooling system) และถังเก็บพลังงานความเย็น (Thermal energy storage) ในการบริหารภาพรวมการจ่ายน้ำเย็นได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว บี.กริมกำลังเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มใกล้พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อจ่ายไฟฟ้าสีเขียว

ขณะเดียวกันภาครัฐอย่างการไฟฟ้ากำลังดำเนินการร่างกฎระเบียบให้บุคคลที่สาม สามารถต่อสายส่งของภาครัฐได้ นั่นหมายความว่า บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าสีเขียวในพื้นที่ห่างไกล สามารถใช้สายส่งไฟฟ้าของภาครัฐเพื่อส่งไฟฟ้าสีเขียวให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ห่างไกลได้ แต่ราคาจะต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง

เปิดมุมมอง 4 ผู้บริหาร แนะแนวทางขับเคลื่อน Data Center สู่ความยั่งยืน

อุปสรรคฉุดลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์

ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถสิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) เตือนเกี่ยวกับอุปสรรคการเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยว่า ตลาดในไทยเป็นตลาด Untapped market หรือตลาดที่มีการเข้าถึงอย่างจำกัด มาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่

1.ค่า IP Transit การถ่ายโอนข้อมูลในวงการอินเทอร์เน็ตหรือดาต้าเซ็นเตอร์มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้แพงกว่าประเทศสิงคโปร์ราว 10 เท่า ส่งผลให้บิ๊กเทคฯผู้ให้บริการคลาวด์บางแห่ง อาทิ ไมโครซอฟท์ มีความลังเลในการตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

2. ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ศุภรัฒศ์ย้ำว่า นโยบายที่ชัดเจนเป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เป็นอย่างมาก และได้ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มักเกิดแผ่นดินไหว, ประเทศเกาหลีใต้ที่มีปัญหากับเกาหลีเหนือ และประเทศสิงคโปร์ ที่มีค่าที่ดินและค่าไฟฟ้าแพง เพื่อให้เห็นว่า 3 ประเทศนี้ล้วนมีปัญหาที่น่ากังวล แต่อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์เติบโตอย่างมากเพราะประเทศมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ไทยมีศักยภาพเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสเติบโตอย่างมหาศาล

ดีมานด์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับประเภทดาต้า

ศุภรัฒน์ เผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นอยู่กับประเภทของข้อมูล ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์มีหน้าที่เก็บข้อมูล 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 
1.เอไอ ธุรกิจเอไอส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับต้นทุนที่ถูกมากกว่าการใช้พลังงานสีเขียว แต่ถ้ามีพลังงานสีเขียวก็สนให้ความสนใจอยู่บ้าง
2.คลาวด์ ในส่วนของธุรกิจให้บริการคลาวด์ จะเน้นให้ความสำคัญกับแหล่งลูกค้า จึงสนใจพื้นที่ในตัวเมือง
3.การจัดเก็บข้อมูลทั่วไป ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์ที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลทั่วไปจะสนใจแค่ข้อมูลที่จัดเก็บ ปัจจัยอื่น ๆ จะเป็นปัจจัยรอง
ดังนั้น ประเทศไทยควรเตรียมนโยบายอำนวยความสะดวกให้ตรงกับความต้องการของดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย