กมธ.ปฏิรูปสื่อหวั่นกม.ศก.ดิจิทัลกระทบความปลอดภัย
กมธ.ปฏิรูปสื่อหวั่นกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล กระทบความปลอดภัย"คอมพิวเตอร์" ระบุกสทช.โดนลดบทบาท
นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่าที่ประชุม กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯได้หารือเรื่องกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ยื่นหนังสือร้องเรียนมายัง กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯโดยอ้างว่า กฎหมายดังกล่าวนี้อาจมีแนวทางไม่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปสื่อ อย่างที่คณะกมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ กำลังดำเนินการอยู่
นายจุมพล กล่าวว่า คณะกมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯได้ ศึกษา ข้อดี ข้อเสีย ร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ โดย 1.พิจารณาถึงผลกระทบของเสรีภาพของประชาชน ต่อการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร 2. ผลกระทบต่อโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งผลการศึกษาพบสรุปได้ว่า นโยบายพัฒนาประเทศไทยไปสู่ เศรษฐกิจและดิจิทัลของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดี
นายจุมพล กล่าวว่า แต่เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ พบว่ามีแนวทางไปทางที่มุ่งเน้นปกป้องความมั่นคงของประเทศมากกว่าความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่งผลเสียเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมมากกว่าผลดี และอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ขาดการมีส่วนร่วมของจากภาคส่วนต่างๆของสังคม ดังนั้นตัวกฎหมายนี้อาจจะไม่สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้บรรลุตามจุดประสงค์และหลักการที่รัฐบาลวางนโยบายไว้
นายจุมพล กล่าวว่า ส่วนเรื่องโครงสร้าง สถานะและบทบาท อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน องค์กร หรือหน่วยงานรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ยังไม่ครอบคลุมประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวัง สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และกองทุน ทาง กมธ.เห็นว่า กสทช.จะถูกลดบทบาทลง จนเป็นองค์กรที่ขาดความเป็นอิสระ โดยคณะกรรมการดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคมจะเป็นผู้เข้ามามีบทบาทแทน อำนาจในการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่จะถูกแทรกแซง ทั้งจากกลุ่มอำนาจทางการเมือง และอำนาจทุนได้โดยง่าย มีความไม่ชัดเจนในภารกิจของรัฐ ในฐานะผู้ประกอบการและผู้กำกับดูแล ส่งผลให้การพัฒนา ตามแนวทางปฏิรูปสื่อ ย้อนกลับไปสู่ อดีตที่รัฐถือครอง คลื่นความถี่จำนวนมาก นอกจากนี้ภาครวมกฎหมายทั้ง 10 ฉบับไม่มีมาตรการรองรับ กลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตามทาง กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ ได้จัดตั้งอนุ กมธ. ขึ้นมา 1 ชุดเพื่อศึกษากฎหมายทั้ง 10 ฉบับเป็นการเฉพาะ โดยมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ทำหน้าที่เป็นประธาน
ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กล่าวว่า อนุกมธ.ชุดนี้จะศึกษาว่าสอดคล้องกับการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศตามที่ กมธ.ได้พูดคุยกันไว้หรือไม่ มีประเด็นหลักใน 2 ประเด็นคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 2. คือเรื่องการปฏิรูปสื่อ ซึ่งยังคงยืนยันให้มีองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กิจการวิทยุ โทรทัศน์และเพิ่มบทบาทในการกำกับดูแลกิจการสารสนเทศ จากการศึกษาพบว่าโดยหลักการ ทางคณะ กมธ. ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแนวนโยบายที่จะสร้างประเทศไทย ให้ก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจและดิจิทัล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ดูจะตรงข้ามกับหลักการที่ควรจะเป็น แทนที่จะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แต่กลับจะเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
นายวสันต์ กล่าวว่า เนื่องจากว่ากิจการทางด้านนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยของระบบไซเบอร์ ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถรักษาความปลอดภัยความลับของลูกค้าในเชิงส่วนตัวและธุรกิจได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากในเรื่องของการตรวจค้น เข้าไปแทรกแซง ในระบบหรือดูรายละเอียดต่างๆด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในการทำธุรกิจ และอาจทำให้ต้องถอนตัว ถอนการลงทุนออกไปได้ ซึ่งทางอนุกมธ.ฯ พบว่าแทนที่จะเป็นการส่งเสริม กลับเป็นการบ่อนทำลาย
นายวสันต์ กล่าวว่า การที่มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรจะเป็นคณะกรรมการที่จะมาดูเรื่องนโยบาย แต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติควรจะต้องมีการเสนอนายกรัฐมนตรี โดยผ่านความเห็นชอบของสภา ก่อนที่จะขับเคลื่อนหรือผลักดัน มิฉะนั้นทางคณะกรรมการที่ว่านี้จะมีอำนาจเท่ากับคณะรัฐมนตรี ซึ่ง กสทช.จะต้องฟังทั้ง 2 ส่วน ซึ่งทางคณะกรรมการอาจจะเข้าไปแทรกแซงหรืออาจเข้าไปกำกับดูแล กสทช.และทำให้การจัดสรรคลื่น่ความถี่ที่ควรจะเสรี ก็อาจจะได้รับผลกระทบตรงนี้ได้ ขณะเดียวกันคลื่นความถี่ที่ควรเป็น ทรัพย์ยากรของชาติ เพื่อประโยชน์โดยรวม ก็อาจจะถูกกันออกไปบางส่วน
นายวสันต์ กล่าวว่า แต่เดิม กสทช.จะเป็นคนทำแม่บทและจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ในอนาคตคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ จะกลายเป็นคนดูแผนความถี่ ความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ ก่อนจะให้ กสทช.ไปดูอีกครั้งในเรื่องของการจัดสรรคลื่น ซึ่งการออกฎหมายดังกล่าวออกมานั้นอาจจะกระทบต่อประชาชนได้