Unmet needs คีย์เวิร์ดวิจัยทำเงิน
ปูนเพื่อวัสดุทางทันตกรรมและฐานรองฟันปลอม ตัวอย่างผลงานเพิ่มมูลค่าปูนซีเมนต์และพลาสติกด้วยการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ Unmet needs
ปูนเพื่อวัสดุทางทันตกรรมและฐานรองฟันปลอม ตัวอย่างผลงานเพิ่มมูลค่าปูนซีเมนต์และพลาสติกด้วยการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ Unmet needs หรือความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเป้าหมาย ส่งผลให้องค์กรนวัตกรรมรายนี้มีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่จากแล็บมากถึง 35% ของรายได้ทั้งหมด
ทั้งยังเตรียมเปิดตัว “เอสซีจี โอเพ่น อินโนเวชัน เซ็นเตอร์” ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ในวันพุธที่ 29 นี้ พื้นที่จัดแสดงผลงานนวัตกรรม รวมทั้งเป็นพื้นที่เปิดรับไอเดียสร้างสรรค์ใหม่จากบุคคลทั่วไป
หมดยุคนักวิจัยคิดโจทย์เอง
“หากต้องการจะสร้างโซลูชั่นขึ้นใหม่จำเป็นต้องตีโจทย์จากกลุ่มผู้ใช้จริงให้แตก เช่น สภาอุตสาหกรรม เกษตรกรประจำจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ จึงจะพบความต้องการแท้จริงที่ซ่อนเร้นอยู่ (Unmet needs) แล้วเปลี่ยนเป็นโจทย์วิจัยส่งต่อให้หน่วยงานวิจัยค้นหาคำตอบต่อไป” นางวิไลพร เจตนจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย กล่าวถึงกรอบคิดในการทำวิจัยของบริษัท
ถึงเวลาของทีมไทยแลนด์ที่ต้องรวมพลังเพื่อทำวิจัยตอบโจทย์ประเทศจริงๆ สิ่งสำคัญ คือการสนับสนุนของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจต่างๆ รับรู้และเข้าถึงข้อมูลน้อยมาก ทั้งยังมีความต้องการต่างกัน
ยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพต้องการธุรกิจใหม่ที่ตอบ Unmet Needs, เอสเอ็มอีต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและเสริมการตลาด ในขณะที่เอกชนรายใหญ่ต้องการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ บริการหรือธุรกิจใหม่ที่แตกต่าง ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการการวิจัยและพัฒนามาตอบโจทย์
ยกตัวอย่างเอสซีจีมองเห็น Unmet Needs จากการที่ไทยนำเข้าอุปกรณ์ทำฟันปีละกว่า 4 พันล้านบาท จึงคิดที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นตลาดโลก โดยเริ่มที่จุดเล็กๆ แต่มีความเป็นไปได้ทางการตลาดก่อน
“จากปูนกิโลกรัมละ 2 บาท เราทำวิจัยและพัฒนาสู่วัสดุอุดฟันที่มีสารต้านแบคทีเรีย สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 110 บาท จดสิทธิบัตรและได้รับมาตรฐาน CE Mark สามารถทำตลาดได้ทั่วโลก จากนั้นมีแผนพัฒนาต่อยอดเป็นฐานรองฟันปลอม สร้างมูลค่าเพิ่มให้พลาสติกกิโลกรัมละ 50 บาทเป็น 1.5 หมื่นบาท” ผู้บริหารเอสซีจีกล่าวและไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไปแต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดในการใช้เวลาคิดหา Unmet Need และพัฒนาให้ตอบความต้องการนั้นให้ได้
ปีหน้างบวิจัยลุ้น 1%ของจีดีพี
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ปี 2560 เป็นปีที่เอกชนแข่งขันสูงมาก จึงต้องการอาร์แอนด์ดีเป็นตัวช่วยให้เหนือกว่าคู่แข่ง
ปี2557 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนลงทุนวิจัยทั้งสิ้น 6.34 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.48% ของจีดีพี ขยับขึ้นมาเป็น 8.45 หมื่นล้านบาท หรือ 0.62% ของจีดีพีในปี 2558 ที่สำคัญยังพบว่าการลงทุนของเอกชนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์และเคมี
“นับเป็นสัญญาณที่ดีว่า ภาคเอกชนให้ความสนใจด้านวิจัยและพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ก็ทำให้ตั้งเป้าหมายได้ว่า สิ้นปี 2561 ไทยจะมีการลงทุนวิจัย 1% ของจีดีพี” เลขาธิการ สวทน. เผยผลการสำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน ประจำปี 2559
นอกจากนี้ จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยที่มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ปี 2557 มีทั้งสิ้น 8.42 หมื่นคน แบ่งเป็นภาครัฐ 54% ภาคเอกชน 46% คิดเป็นสัดส่วน 12.9 คนต่อประชากร 10,000 คน เพิ่มสัดส่วนเป็น 13.6 คนในปี 2558 โดยมีจำนวนบุคลากรวิจัย 8.96 หมื่นคน แยกเป็นภาคเอกชน 55% ภาครัฐคือ 45% ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ภาคเอกชนในไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะการวิจัยและพัฒนาสามารถเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในไทยที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาก็เห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่า ยิ่งเพิ่มเม็ดเงินลงทุนวิจัยมากขึ้น รายได้หรือผลประกอบการของบริษัทก็เพิ่มในทิศทางที่สอดคล้องกัน
“การลงทุนวิจัยและพัฒนาในระดับโลกจะอิ่มตัวแล้วด้วยอัตราการเติบโตปี 2558 ที่ 0.04% ขณะที่ไทยเติบโตถึง 73% แม้ฐานรายได้จะน้อยกว่าแต่ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่ตลาดงานวิจัยจะโตได้อีกมาก” นายกิติพงค์กล่าว