Unii แพลตฟอร์มแรกของโลก สร้างดิสรัปครั้งใหญ่ใน ธุรกิจรีไซเคิล
Unii แพลตฟอร์มแรกของโลกที่จะบริหารธุรกิจรีไซเคิลแบบครบวงจร ริเริ่มโดยกลุ่มผู้บริหารองค์กรพัฒนาเมืองของไทย ที่มองเห็นศักยภาพธุรกิจรีไซเคิล ที่มีมูลค่าหลายล้านล้านบาทต่อปี มหาเศรษฐีทั่วฟ้าเมืองไทยต่างทำธุรกิจนี้เกือบทุกคน
ทำไมถึงต้อง ธุรกิจรีไซเคิล?
จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ของธุรกิจรีไซเคิลในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวน 212 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 107 ราย เพิ่มขึ้น 105 ราย หรือขยายตัวขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 98.13 เมื่อพิจารณาจำนวนการจัดตั้งทั้งปี 2560 มีจำนวน 358 ราย เมื่อเทียบกับปี 2559 เพิ่มขึ้น 93 ราย คิดเป็น ร้อยละ 35.09
แนวโน้มการจัดตั้งใหม่ของธุรกิจนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและ ขยายตัวต่อเนื่องในปี 2561 ซึ่งมีจำนวนเฉลี่ยของธุรกิจจัดตั้งใหม่ 42 รายต่อเดือน สูงกว่าปี 2560 ซึ่งมีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 30 รายต่อเดือน แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนี้สอดรับกับจำนวนประชากร ที่เพิ่มขึ้นและกระแสโลกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประกอบธุรกิจรีไซเคิลไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยธุรกิจที่จดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ขายส่งชิ้นส่วนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีกระบวนการเปลี่ยนรูป
ธุรกิจรีไซเคิล คือ ธุรกิจที่ดำเนินการเก็บรวบรวมเศษวัสดุและชิ้นส่วนโลหะและอโลหะที่ใช้แล้วและไม่เป็น อันตราย เช่น ขยะจากครัวเรือน กระดาษ พลาสติก ชิ้นส่วนเครื่องใช้ คอมพิวเตอร์ และยานพาหนะต่างๆ และสิ่งของที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น เพื่อขายส่งโดยไม่มีกระบวนการเปลี่ยนรูป และธุรกิจที่ดำเนินการ แปรรูปเพื่อนำมาเป็นวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยกระบวนการแปรสภาพทางกลหรือทางเคมี
สร้างรายได้จากแอพฯ
ศิวัช ภูธนแสงทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ยูนี่ ออนไลน์ จำกัด กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่กลุ่มผู้บริหารจากโครงการ CCIO หลักสูตรปั้นผู้บริหารสู่นักพัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรมจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เกิดความคิดที่จะพัฒนาประเทศร่วมกัน โดยพบว่า ขยะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศติดหล่มหรือเสียโอกาสในหลายๆ เรื่อง จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “ยูนี่” (unii) ขึ้นมาให้เป็นตัวช่วยในการพัฒนาธุรกิจขนส่งรีไซเคิล ที่จะส่งผลให้ปริมาณขยะลดลง ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
“ธุรกิจรีไซเคิล มีมูลค่าปีละเกือบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งแทบจะทุกสินค้าในชีวิตประจำวันนับเป็นวัสดุรีไซเคิลเกือบทั้งสิ้น หรือคิดเป็นประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน หากรวมทั่วประเทศมีปริมาณกว่า 100 ล้านตัน แต่เรากลับไม่ได้เงินตรงจุดนั้น เนื่องจากมูลค่าทั้งหมดของขยะรีไซเคิลไม่ได้อยู่ในระบบ จึงยากที่จะบริหารจัดการ นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่ามีรถขนส่งขยะรีไซเคิลอยู่ประมาณ 2 ล้านคัน ต้นทุนการบริหารจัดการประมาณ 50% แต่ยูนี่จะทำให้ประหยัดได้มากกว่า 70% ของต้นทุนที่สูญเสียไปกับการขนส่ง”
วงจรของ ธุรกิจรีไซเคิล ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1. ผู้ขายทั่วไป นั่นคือคนไทยทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน หากโหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้งาน สามารถการันตีได้ว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,200 บาทต่อเดือน 2.ผู้รับซื้อ ตั้งแต่ ซาเล้ง ปิกอัพ จนถึง สิบล้อ ประมาณ 2 ล้านคัน 3.ร้านรับซื้อที่มีมากกว่า 3 หมื่นแห่ง 4.โรงงานรีไซเคิลกว่า 3 พันแห่งมียอดผลิตมากกว่า 2 ล้านล้านตันต่อปี
ที่ผ่านมา ผู้รับซื้อไม่รู้ทราบว่าผู้ขายอยู่ที่ไหน จึงต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงจำนวนมาก อีกด้านเมื่อผู้รับซื้อไปรับซื้อสินค้ามาแล้ว ก็ต้องนำไปขายต่อให้ร้านรับซื้อ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่รู้ว่าแต่ละร้านรับซื้อในราคาเท่าไหร่ อีกทั้งบางครั้งเกิดการเอาเปรียบ ไม่ซื่อตรงเรื่องราคาและน้ำหนัก ด้วยเหตุนี้ แอพพลิเคชั่นยูนี่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยจะมีการแจ้งอัตราราคาวัสดุรีไซเคิลแต่ละประเภทตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันผู้รับซื้อทั่วไปสามารถลดต้นทุนได้กว่า 71% หรือ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากลดขั้นตอนการขนส่งและเสาะหาวัสดุรีไซเคิลตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น ลดเวลาทำงานไปกว่า 73% อีกทั้งช่วยรัฐในการเก็บภาษีได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งยังสามารถสร้างมาตรฐานให้กับธุรกิจรีไซเคิลที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อต่อยอดสู่การวางรากฐานให้กับประเทศไทย
ทางด้านโรงงานรีไซเคิลจะสามารถลดต้นทุนในการขับรถรับซื้อสินค้าต่อจากผู้ขายรายย่อยได้กว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน หรือกว่า 71% พร้อมทั้งยังลดเวลาทำงานเหลือ 2 วันต่อเที่ยว หรือกว่า 73% ซึ่งจะแปลงเป็นรายได้กว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 2.4 แสนบาทต่อปี มีวันว่าง 22 วันต่อเดือน หรือ 264 วันต่อปี
ตั้งเป้า 5 ล้านโหลดก่อนสิ้นปีนี้
แอพพลิเคชั่น ยูนี่ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการลดต้นทุนการขนส่งของ ธุรกิจรีไซเคิล ประหยัดเวลาในการทำงาน ทำให้ธุรกิจนี้สามารถอยู่บนพื้นฐานของการเติบโตอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญช่วยขจัดขยะได้อย่างตรงจุด พร้อมสร้างรายได้อย่างครบวงจร
ยูนี่ จะเปิดให้ใช้งานทีละโซนแบ่งออกเป็น 15 โซน โดยเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาในพื้นที่อีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และอุบลราชธานี ส่วนกรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนสิ้นปี เมื่อเปิดตัวครบทุกโซนคาดว่าจะมีประชาชนฝั่งที่เป็นผู้ขายโหลดยูนี่ใช้งานก่อนสิ้นปีประมาณ 5 ล้านคน จึงนับว่าเป็นแอพพลิเคชั่นแรกที่จะช่วยให้คนไทยด้วยกันได้ร่วมเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างประโยชน์ สร้างรายได้ และขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมไปพร้อมๆ กัน