เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติฯ ของ สวทช. รับพระราชทาน รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 2562
ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ นำทีมนักวิจัยในสังกัด สวทช.19 คนพัฒนา "เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย" ตั้งแต่ปี 2550 กระทั่งปัจจุบันต่อยอดใช้งานเชิงพาณิชย์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ประหยัดเงินตราของประเทศไปได้กว่า 270 ล้านบาท
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานแสดงความความยินดีแก่ นักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2562 ในปีนี้ผลงานวิจัยพัฒนา "เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย" ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ซึ่ง ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้อำนวยการโครงการ "เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย" ได้เข้ารับพระราชทานรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562" แล้ว จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 ในวโรกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 (วทท.45) ของ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
โครงการดังกล่าวข้างต้นเริ่มในปี 2550 เนินงานเริ่มจากงานทันตกรรมเป็นอันดับแรก ตั้งแต่การออกแบบ วิจัย พัฒนา ผลิตต้นแบบตามมาตรฐานสากล จนกระทั่งถ่ายทอดสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้จริงจนปัจจุบัน ต่อมาได้ขยายไปใช้งานลักษณะอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวยซึ่งบางครั้งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า โคนบีมซีที (Cone Beam CT) หรือ ซีบีซีที (CBCT) จึงได้รับการออกแบบและผลิตออกมาเป็น 3 ลักษณะเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ ได้แก่
1) เครื่องเดนตีสแกน (DentiiScan) เน้นงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า
2) เครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) เน้นการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ สามารถเคลื่อนย้ายได้
3) เครื่องมินีสแกน (MiniiScan) เน้นการตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด
เครื่องโคนบีมซีที ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นได้มีการทดสอบคุณภาพของภาพด้วยแฟนทอม (Phantom) มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีและไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีขั้นตอนตามหลักสากล แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบทางคลินิกก่อนนำไปสู่การใช้งานจริงกับผู้ป่วยในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะนำออกไปผลิตจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งานในประเทศ คณะวิจัยจึงดำเนินการจนได้การรับรองมาตรฐานสากล ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์) ของกระบวนการผลิตในโรงงานนำร่องของ สวทช. ที่จัดตั้งขึ้นมาอีกด้วย ปัจจุบันมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชนแล้ว
กรณี เครื่องเดนตีสแกน นั้นติดตั้งใช้งานไปแล้วราว 60 เครื่องในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยและมีการใช้งานไปแล้วกว่า 7,000 ครั้ง ส่วน เครื่องโมบีสแกน ใช้งานที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะทันตแพทยศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยกับผู้ป่วยกว่า 1,000 ครั้ง ส่วนเครื่องมินีสแกนใช้กับผู้ป่วยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปแล้วกว่า 100 ครั้ง
เครื่องโคนบีมซีทีนับเป็นตัวอย่างการงานวิจัยที่นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศแล้วกรณีเครื่องเดนตีสแกนยังทำให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและคนพิการได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์เพื่องานทันตกรรมรากฟันเทียม รวมทั้งด้านการวินิจฉัยโรคอื่น ๆ อีกด้วย อาทิเช่น ขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ มะเร็งกรามช้าง ฟันฝัง ถุงน้ำ และไซนัสอักเสบ เป็นต้น กรณีเครื่องโมบีสแกนช่วยงานด้านการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมทั้งผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนเครื่องมินีสแกนช่วยลดระยะเวลาในการใช้ห้องผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ส่งผลให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยเนื่องจากการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งเต้านมซ้ำ
ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ (ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) ผู้อำนวยการโครงการ กล่าวว่า ผลงานวิจัยพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย จะช่วยลดการเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับคุณภาพของคนไทย ส่งเสริมให้มีการฝังรากเทียมกับผู้ยากไร้ และการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ พร้อมลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดเงินตราของประเทศไปได้กว่า 270 ล้าน รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์จากงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ และสร้างระบบนิเวศให้เกิดการหมุนเวียนในเชิงเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย ตลอดจนสร้างเครือข่ายทันตแพทย์ขนาดใหญ่ในระดับประเทศ เกิดมูลค่าทางทันตแพทย์ในการทำรากฟันเทียม 900 ล้านบาทต่อปี ตอบโจทย์การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป
ทั้งนี้ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดให้มีโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ขึ้นเมื่อปี 2543 เป็นต้นมา กล่าวถึงความสำคัญของรางวัลว่า "ศักยภาพและความสามารถในการสร้าง / พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติ หรือเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศนั้นๆอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีแรกของการมอบรางวัล จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้งประเภทกลุ่ม และบุคคลไปแล้วรวม 30 รางวัล และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่รวม 28 รางวัล