กสทฯ ร่วมวง 5 จี - หวังเคาะ 'คลื่น700'
ควบรวมทีโอทีไม่ทันประมูล ทำข้อตกลงร่วมประมูลคลื่นต่างกัน
เขา เสริมว่า ในอนาคตที่ต้องเกิดการควบรวมกิจการซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้หลังปี 2568 เมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้ว จะมีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการต่อไป แต่เมื่อไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลคลื่นในนามเอ็นทีได้ทัน จึงต้องทำข้อตกลงกับทีโอทีเข้าประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกัน เพื่อให้อนาคตเอ็นทีมีหลายคลื่นความถี่ให้บริการ กลุ่มคลื่นความถี่ที่ กสทช. นำออกประมูล ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งประเมินว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีผู้ผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับแล้ว
ดังนั้น หาก กสทฯ ต้องการคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น จะทำให้เกิดการแข่งขันสูง และแคทต้องขยายเสาสัญญาณจำนวนมาก ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น แต่หากเข้าร่วมประมูลความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นใกล้เคียงกับคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่กสทฯ มีอยู่กับบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะช่วยให้ลดการลงทุน ประกอบกับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายมีอยู่แล้ว ทำให้การแข่งขันด้านราคาไม่สูงเกินไป
“ส่วนที่ กสทช. ระบุว่า จะนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ที่ปัจจุบันให้บริการดาวเทียม ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับความนิยม และปัจจุบันมีอุปกรณ์รองรับอย่างแพร่หลาย ออกมาประมูลครั้งถัดไปช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 นั้น กสทฯ ก็อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน"
เขา ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่า ครั้งแรกกสทฯ อาจจะเข้าร่วมการประมูล แต่ถ้าไม่ได้คลื่นความถี่ คงต้องเข้าร่วมการประมูลในครั้งที่สอง แต่ด้วยกรอบเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อาจทำให้โอเปอร์เรเตอร์ที่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่รอบ 2 ต้องตกขบวน 5จี เพราะไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงปลายปี 2563 ซึ่งกสทฯไม่ได้กังวลเรื่องการตกขบวน 5จี การร่วมประมูลครั้งนี้ เพื่อให้มีคลื่นความถี่ให้บริการ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงต้องศึกษารายละเอียดในทุกสถานการณ์เพื่อดูความเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะจึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน