เคล็ดลับการออกแบบ 'โลโก้' สร้างฐานแบรนด์-เพิ่มมูลค่างาน
'โลโก้' ไม่ใช่แค่การออกแบบตัวหนังสือหรือรูปภาพ จึงจำเป็นต้องอาศัยทักษะทั้งศาตร์และศิลป์เพื่อสร้างสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง “ตัวตน” ของแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ พร้อมแนะ 3 ปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้าม การสร้างเรื่องราว สี ตัวอักษร
ผมได้รับคำถามจากผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชน หลังจากบทความการปรับภาพลักษณ์ของกาแฟอัยเยอร์เวงเผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จึงหยิบประเด็น “การออกแบบตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้” ที่มีผู้ถามมากที่สุดมานำเสนอ โดยนำตราสัญลักษณ์ชุมชนท่องเที่ยวเกาะลิบง จังหวัดตรัง มาเป็นตัวอย่างในการแนะนำแนวคิดการออกแบบซึ่ง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้าม
1.เรื่องราว (Story Telling) อาจเป็นกระบวนการผลิตหรือมีวัตถุดิบพิเศษไม่เหมือนใคร การผลิตที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลักษณะพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ฯลฯ เช่น ผมนำน้องพะยูนและต้นหลาวชะโอน เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเกาะลิบงมาสร้างเป็นภาพสัญลักษณ์ พร้อมข้อความ “ชุมชนท่องเที่ยวเกาะลิบง” ตอกย้ำชื่อชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่จดจำ ตราสัญลักษณ์ในรูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Combination Mark เป็นการรวมกันของภาพสัญลักษณ์และตัวอักษร
2. สี (Colour) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก และมีส่วนช่วยสร้างความทรงจำให้กับแบรนด์ เช่น สีน้ำเงินในกลุ่มธนาคารในภาพจำของลูกค้าหมายถึงธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น สำหรับชุมชนท่องเที่ยวเกาะลิบง ผมเลือกใช้คู่สี น้ำเงิน ฟ้า สื่อถึงท้องทะเลที่ใสสะอาด ใช้ขอบลายเส้นสีขาว และสีทอง มาสร้างเป็นภาพสัญลักษณ์โดยนำสีส้ม สีคู่ตรงข้ามมาสร้างความสมดุล สีเหล่านี้ได้มาจากสีสันของผ้าปาเต๊ะ วัฒนธรรมการแต่งกายของคนในพื้นที่และสภาพภูมิศาสตร์ของเกาะลิบง
3. ตัวอักษร (Font) ส่วนใหญ่คิดว่าจะใช้ตัวอักษรแบบไหนก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะตัวอักษรแต่ละชนิดให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน ตัวอักษรที่ใช้สำหรับ “ชุมชนท่องเที่ยวเกาะลิบง” มีชื่อฟอนต์ว่า Mitr เป็นตัวอักษรแนวร่วมสมัย สอดรับไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวในพื้นที่ ที่เรียบง่ายตามวิถีชุมชน ไม่ดูเก่าโบราณหรือทันสมัยจนจับต้องยาก เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการห้ามลืมคือ เมื่อได้ตราสัญลักษณ์แล้ว เราควรใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ห้ามดัดแปลงสัดส่วนโลโก้ เปลี่ยนสีตามอำเภอใจ หรือเปลี่ยนตัวอักษรไปเรื่อยๆ เพราะนั่นเป็นการทำร้ายภาพลักษณ์ของแบรนด์ในทางอ้อม หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะชุมชนท่องเที่ยว หันมาพัฒนาตราสัญลักษณ์ให้สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ในช่วงพักเบรกโควิดกันนะครับ