กสอ.ติดอาวุธปัญญา สร้าง 'นักรบ' เศรษฐกิจใหม่

กสอ.ติดอาวุธปัญญา สร้าง 'นักรบ' เศรษฐกิจใหม่

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บ่มเพาะยกระดับ “ผู้ประกอบการใหม่”21 กิจการ สร้างศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้นแบบสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคและตลาดวิถีใหม่โชว์เคส “นาโนบับเบิ้ล”นวัตกรรมเปลี่ยนโฉมออกซิเจนใต้น้ำ สร้างมูลค่าผลผลิตพืช-สัตว์น้ำ

“นาโนบับเบิ้ล” ผลิตภัณฑ์จากบริษัท กสิพันธารัต จำกัด ผู้ประกอบการในโครงการ “กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการใหม่” สาขาดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จัดโดยกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันการจัดการระบบรางและการผลิตสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

159775892926

วัตถุประสงค์โครงการฯ มุ่งเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการใหม่มีแนวคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุง พัฒนา หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างต้นแบบ ตลอดจนสนับสนุนการนำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณะหรือเวทีการค้า

ทางเลือกใหม่ในการเพาะเลี้ยง

ปิยวรรณ จิราวรรณสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กสิพันธารัต จำกัด กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ มีทั้งได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด พร้อมแนวทางในการวางแผนธุรกิจ คาดว่าหลังจากจบโครงการจะยังมีการเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่โปรดักส์อื่นๆอย่างต่อเนื่อง

159775895989

ทั้งนี้ บริษัทฯ ผลิตอุปกรณ์เติมอากาศในน้ำมานานกว่า 12 ปี จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ ยุโรปและกัวเตมาลา มีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดสินค้า จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมกระทั่งเกิดความสนใจในนวัตกรรมจากเกาหลี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีนาโนบับเบิ้ลในการเลี้ยงปลา Flat fish หรือ ปลาหน้าเดียวซึ่งเป็นปลามูลค่าสูง ต่อมาได้พัฒนาจนสำเร็จเกิดเป็น “นาโนบับเบิ้ล” ฝีมือคนไทย

นาโนบับเบิ้ลเป็นเทคโนโลยีฟองอากาศขนาดเล็กระดับ 100-200 นาโนเมตร ทำให้ประสิทธิภาพในการเพิ่มค่าออกซิเจนในน้ำสูงสุด ล่าสุดสามารถคงอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง ทั้งยังพัฒนาระบบให้สามารถสั่งการเครื่องผลิตฟองนาโนผ่านสมาร์ทโฟนได้ด้วย

กลุ่มเป้าหมายของเทคโนโลยีนี้คือ อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบำบัดน้ำเสียและอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งไฮโดรโปนิกส์และอควาโปนิกส์ ที่เป็นการปลูกพืชควบคู่กับการเลี้ยงปลา จากการทดสอบพบว่า นาโนบับเบิ้ลช่วยรากพืชดูดซับออกซิเจนและแร่ธาตุจากน้ำได้ดีขึ้น ส่งผลให้พืชแข็งแรง โตไว อีกทั้งมีผลงานวิจัย ระบุว่า สามารถลดโรคเกี่ยวกับเชื้อราในพืชได้อีกด้วย 

159775899393

ส่วนกลุ่มพืชเศรษฐกิจอย่างไร่อ้อย สามารถใช้ประโยชน์ในส่วนการรดน้ำ ซึ่งหากน้ำมีออกซิเจนสูงก็จะส่งผลต่อการดูดซึมของราก ทำให้พืชเหล่านี้เติบโตได้ดี ทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตตันต่อไร่ ในส่วนของอุตฯ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อสัตว์น้ำได้รับออกซิเจนที่เพียงพอก็จะกินอาหารได้มากขึ้น ระบบคุ้มกันก็จะดี สามารถลดโรคต่างๆ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อีกทางหนึ่ง

นวัตกรรมนาโนบับเบิ้ลในเมืองไทยยังไม่แพร่หลายนัก จึงคาดว่าจะสามารถทำการตลาดได้ดี โดยตั้งเป้าราคาเริ่มต้นอยู่ที่  4 หมื่นบาท ส่วนบิซิเนสโมเดลคาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายในช่วงไตรมาส 4 โดยจะเป็นการจำหน่ายในลักษณะระบบการขายตรง (Direct Sales) เนื่องจากตัวผลิตภัณฑ์จะต้องมีผู้ให้ข้อมูลความรู้ ในช่วงแรกตั้งเป้าจะเป็นในลักษณะการทดลองใช้และเช่าซื้อ ทั้งนี้จากวิกฤติโควิดพบว่าส่งผลต่อภาพรวมตลาดแต่มองว่าธุรกิจนี้ยังคงมีเซกเมนต์ที่ไปต่อได้ เราจึงพยายามลดต้นทุน และตั้งเป้าเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น”

159775917090

หนุน 21 กิจการสู่ความสำเร็จ

สุณีย์ บุตรดี รองหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมีหน่วยงานผู้กำกับดูแลคือ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินงานโดย สถาบันการจัดการระบบรางและการผลิตสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

 “ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ1.เพื่อให้ผู้ประกอบการใหม่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านองค์ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อให้มีแนวคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุง พัฒนา หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม 2.เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างต้นแบบสินค้าใหม่ต่อไป และ 3.เพื่อสนับสนุนการนำเสนอผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณะหรือเวทีการค้า

159775919873

โดยในปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 20 กิจการ และสำรอง 1 กิจการ ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 15 กิจการเป็นธุรกิจใหม่มีผลประกอบการไม่เกิน 5 ปี อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบเป็นของตนเอง ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ประกอบการในลักษณะพี่เลี้ยง

"โครงการจะเป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้คำแนะนำปรึกษาเชิงลึกและพัฒนาต้นแบบสินค้าผ่านการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำธุรกิจให้มีมูลค่าสูง เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปในอนาคต ภายใต้ระยะเวลาโครงการประมาณ 8 เดือน ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ 70% ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยกิจการละ 0.5 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในโครงการฯ ที่ได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ เครื่องบำบัดเชื้อโรคด้วยวิธีพลาสมาและวัดอุณหภูมิ แอพพลิเคชั่นให้คำปรึกษาทางการแพทย์ และเครื่องวัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5" สุณีย์ กล่าวทิ้งท้าย 

159775922071