เส้นทาง ‘สตาร์ทอัพ’ บทพิสูจน์ ‘ตัวจริง’ โลกธุรกิจ
โดยปกติแล้วการอยู่รอดของธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” มีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ยิ่งมีวิกฤติ ”โควิด-19” เข้ามา ที่เหลือรอดยิ่งน้อยลงกว่าเดิม...
กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมิตี้ เปิดมุมมองว่า อีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพไทยยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ ติดกับดักที่ขนาดตลาดภายในประเทศแม้ไม่เล็กแต่ก็ไม่ใหญ่มากพอ ส่งผลทำให้การขยายตลาดและออกไปเจาะตลาดระดับโกลบอลทำได้ไม่ง่ายนัก
“จากประสบการณ์ผมได้เห็นว่า การทำตลาดองค์กรนั้น หากเพียงแค่ระดับประเทศนั้นยังเล็กเกินไป ต้องวางตำแหน่งเป็นธุรกิจระดับภูมิภาค หรือ โกลบอล พยายามวางโฟกัสให้ชัดเจน และก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่งในธุรกิจนั้นๆ ให้ได้”
นอกจากนี้ ที่สำคัญอย่างมากคือ ต้องมีที่ปรึกษาที่ช่วยแนะนำแนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากบางครั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมถึงปัญหาทั้งหมด หรือคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นได้
สำหรับการมาของโควิด-19 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค ขอให้มองว่าวิกฤติเป็นโอกาส และเชื่อว่ามีโอกาสที่ใหญ่มากรออยู่ โดยเฉพาะบริการด้านคลาวด์ซึ่งเป็นโอกาสที่ใหญ่และเห็นได้ว่ามีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาจำนวนมาก
บริษัทเองจะเข้าไปแคปเจอร์ตลาดเพิ่มมากขึ้นและจะทำให้ได้มากทึ่สุด ปีนี้ตั้งเป้าว่าจะรักษาการทำเติบที่ก้าวกระโดด เตรียมขยายขอบข่ายธุรกิจ เพิ่มทีมให้สอดคล้องกับการเติบโตของตลาด เชื่อว่าสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จได้หากอยู่ในเทรนด์ ตลาด และโอกาสที่ถูกต้อง
อมิตี้เป็นคลาวด์คอมพานีที่ให้บริการเอสดีเค(software development kit) รวมถึงเทคโนโลยีด้านการสื่อสารให้กับธุรกิจองค์กร ปัจจุบันมุ่งโฟกัสตลาดระดับโลกด้วยมองว่าตลาดไทยและระดับอาเซียนยังค่อนข้างเล็ก
พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ประเทศไทยไม่มียูนิคอร์น ส่วนหนึ่งเนื่องจากคอร์ปอเรทขนาดใหญ่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ทั้งสามารถปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว สตาร์ทอัพจึงมีโอกาสน้อยลงหากมองแค่ในประเทศ ต้องออกไปหาโอกาสระดับภูมิภาค
เพิ่มโฟกัส 'กลยุทธ์ทำเงิน'
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด กล่าวว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เหนื่อยมากสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือภาคการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ส่วนหนึ่งปัญหามาจากความสามารถในการแข่งขันที่ไม่ได้มากมาตั้งแต่เริ่มต้น
ทั้งนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องลดต้นทุน ลดคน เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือจำศีล และกำลังรอวันที่จะกลับมา แต่ทั้งนี้ยังมีบางกลุ่มที่เติบโตได้ดีเช่นฟู้ดเดลิเวอรีและอีคอมเมิร์ซ
“สถานการณ์โลกปัจจุบันที่เดินทางไม่ได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องการพบปะนักลงทุน นักลงทุนเองมองหากิจการที่ราคาไม่แพง ส่งผลทำให้ต้องปรับตัวกันอย่างมากเพื่อพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด ต้องลีน และมองหาเรื่องการทำเงินอย่างแท้จริง”
เขากล่าวว่า หากจะมียูนิคอร์น ตลาดต้องใหญ่มากพอ ออกไประดับภูมิภาคหรือโกลบอล โดยตลาดหลักๆ ขณะนี้คือ รูปแบบบีทูซี ส่วนบีทูบีจะเกิดตามมาทีหลัง อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการสร้างมูลค่าที่มากพอเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ปีนี้ยังคงต้องเผชิญความท้าทายกันอีก และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะล้มหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
พร้อมระบุว่า บทบาทของรัฐบาลในอีโคซิสเต็ม หลักๆ หวังช่วยทำให้บรรยากาศเหมาะสมและได้เปรียบในการแข่งขัน มีการปรับแก้กฎหมายที่เอื้อต่อการแข่งขัน อย่างมาตรการภาษี ที่ไม่ใช่แค่เท่าเทียมต่างชาติ แต่ขอให้เข้าข้างสตาร์ทอัพในประเทศมากกว่า
หวังรัฐแก้กฎหมายเอื้อลงทุน
ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 TukTuks กล่าวว่า ในฐานะนักลงทุน มองว่าโดยพื้นฐานแล้วอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพไทยเดินไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่ยังดีที่มีพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแรง ประเมินจากการเผชิญวิกฤติโควิด-19 ที่มีไม่ถึง 15% ที่ไปไม่รอดหรือจำศีล แต่มากกว่า 60% สามารถไปต่อได้
“เมื่อเทียบกับปี 2561 จำนวนดีลการลงทุนน้อยลง มูลค่าลด แต่ยังเห็นว่ามีการระดมทุน ดีลขนาดใหญ่ หรือ ควบรวมกิจการ เนื่องจากนักลงทุนมีความกลัว ด้วยคาดเดาได้ยากขึ้นว่า3-5 ปีจากนี้จะอยู่รอดหรือไม่ ทั้งต้องมีการพิจารณาด้านผลกำไร โอกาสการเติบโตของธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น”
ด้าน 500 ตุ๊กตุ๊กเองมีการพิจารณาดีลน้อยลง จากปกติลงทุน 1 ดีลต่อเดือน แต่ 6 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปลงทุนเลย ด้านปัจจจัยสำคัญที่จะทำให้เป็นยูนิคอนไม่ใช่แค่ตัวเลขมูลค่าบริษัท แต่คือการจะทำอย่างไรให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน สตาร์ทอัพไทยจะอยู่รอดได้ต้องมีความร่วมมือกันจากทั้งภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ผู้บริโภคเปิดใจอย่างมากที่จะใช้เทคโนโลยีและบริการดิจิทัลต่างๆ เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะ “Rethink” ให้กับธุรกิจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ขณะที่สิ่งที่หวังให้เกิดจากภาครัฐอันดับแรกๆ คือ การปรับเปลี่ยนกฎหมายบางข้อที่ยังไม่เอื้อต่อการระดมเงินลงทุน เพื่อว่าต้องหนีไปจัดทะเบียนในต่างประเทศ
ด้าน ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอดับบลิวเอส เสริมว่า สตาร์ทอัพเป็นลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาใช้บริการ และเป็นกลุ่มที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก
สำหรับจุดต่างการให้บริการ คือการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ครอบคลุม สามารถตอบโจทย์การใช้งานธุรกิจที่มีความแตกต่าง โดยรวมปัจจุบันเอดับบลิวเอสมีโซลูชั่นสำหรับให้บริการลูกค้าธุรกิจกว่า 175 บริการ แต่ละปีมีฟังก์ชั่นออกใหม่กว่า 2 พันฟังก์ชั่น