‘หัวเว่ย’ลุยตั้งศูนย์ฯ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ระดับโลก ป้องข้อมูลส่วนบุคคล
“หัวเว่ย” จุดพลุศูนย์ความโปร่งใสด้านความมั่นคงไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับโลก วางเป็นเวทีประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างมาตรฐาน ความโปร่งใส เชื่อมั่น พร้อมดันวาระคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สู่ความร่วมมือระดับนานาชาติ
พร้อมกันนี้ ยังมีการเชื่อมโยง สื่อสาร ผลักดันการพัฒนานวัตกรรม รวมไปถึงสนับสนุนการทดสอบด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบ โดยจะเปิดกว้างให้หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรทดสอบอิสระจากภายนอก ตลอดจนลูกค้า คู่ค้า และซัพพลายเออร์ของหัวเว่ยมาใช้งาน ภายใต้เป้าหมายคือต้องการรวมศูนย์ความเปิดกว้าง ความโปร่งใส ความเชื่อมั่น ไปจนถึงความร่วมมือในโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน
"ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องหลากหลายฝ่าย ครอบคลุมการปฏิบัติงาน 3 ด้าน คือ 1.จัดแสดงตัวอย่างความมั่นคงไซเบอร์ของหัวเว่ยแบบครบวงจร ตั้งแต่กลยุทธ์ ห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่น 2.อำนวยความสะดวกให้การสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างหัวเว่ยและฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยและกลไกการตรวจสอบให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านความมั่นคงไซเบอร์ให้แก่อุตสาหกรรมนี้ และ 3.ให้บริการในรูปแบบการเป็นพื้นที่ทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ลูกค้าของหัวเว่ย"
ผุดเฟรมเวิร์กความปลอดภัยครั้งแรก
อย่างไรก็ดี ครั้งนี้หัวเว่ยยังได้เปิดตัวแนวทางการรักษาความปลอดภัยสายผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทเปิดเผยเฟรมเวิร์กสำหรับการรักษาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ พร้อมด้วยแนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการที่จะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม
โดยนำประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานกว่าทศวรรษ ในการจัดการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ มาผสมผสานกฎระเบียบภายนอก มาตรฐานทางเทคนิค และข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์หัวเว่ย
“นับเป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยได้เปิดเผยเฟรมเวิร์ก พื้นฐานการรักษาความปลอดภัยกับทั้งอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ซัพพลายเออร์หลักของบริษัท โดยมีเป้าหมายที่จะเชิญชวนให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมไปถึงลูกค้า ผู้กำกับดูแล องค์กรที่มีส่วนกำหนดมาตรฐาน ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี และองค์กรทดสอบได้เข้ามามีส่วนรวมในการพูดคุยและทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานและพัฒนาพื้นฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกัน เชื่อว่าการมีส่วนร่วมระหว่างกันนี้จะทำให้สามารถปรับปรุงพัฒนาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง”
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยังคงขาดมาตรฐานและแนวทางการประสานการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านธรรมาภิบาล ความสามารถทางเทคนิค การรับรอง และการทำงานร่วมกัน ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรผู้กำหนดมาตรฐาน และผู้ให้บริการเทคโนโลยี
ดังนั้นต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ขณะเดียวกันต้องเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกัน จัดระเบียบความรับผิดชอบ และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ ตอบสนองความท้าทายทั้งในวันนี้และอนาคต