'ละเมิดลิขสิทธ์' ซอฟต์แวร์ในไทยพุ่ง ครึ่งปีแรกเสียหาย '212 ล้านบาท'
“บก.ปอศ.” เปิดสถิติละเมิดลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์ ครึ่งปีแรกพบเบาะแสแจ้งความ 195 เรื่อง คอมพิวเตอร์ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน 9.6 พันเครื่อง ธุรกิจคนไทยทำผิดสูงสุด คาดสาเหตุมาจากเวิร์คฟรอมโฮมมากขึ้น
บก.ปอศ.เผยว่า จากครึ่งปีแรกปี 2563 ที่จำนวนคอมพิวเตอร์ที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดมีจำนวน 8,239 เครื่อง ปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 9,694 เครื่องคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 212 ล้านบาท ซอฟต์แวร์ที่มีการละเมิดลิขสิทธ์สูงสุดยังคงเป็นซอฟต์แวร์ออกแบบและเขียนแบบ โดยพบว่าปีนี้มี 86.67% ขององค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์
ด้านอุตสาหกรรมที่กระทำผิดมากที่สุด จากเบาะแสการแจ้งความมาจาก อุตสาหกรรมการผลิต 36.92% รองลงมาเป็นออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน 26.15%, ตัวแทนจำหน่ายค้าปลีกและค้าส่ง 21.54%, ธุรกิจบริการ 14.36%, ภาคการขนส่ง 1.03% ขณะที่ประเภทเจ้าของกิจการที่กระทำความผิดมากที่สุดแบ่งเป็นธุรกิจของคนไทย 173 ราย คิดเป็น 73%, ธุรกิจต่างชาติหรือต่างชาติร่วมลงทุน 46 ราย 19.41% ธุรกิจอื่นๆ 18 ราย 7.59%
โดยสรุปความน่ากังวลต่อสถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีนี้พบการละเมิดที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของจำนวนเบาะแสและการแจ้งความ รวมถึงจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิด ส่วนใหญ่เป็นการละเมิดโดยภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ภาคการผลิต ออกแบบ ก่อสร้าง ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต้องให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ ข้อมูลของลูกค้า สินทรัพย์ดิจิทัล ชื่อเสียง ตลอดจนสถานะทางการเงิน
ดังนั้น บก.ปอศ.วางแนวทางการทำงานโดยมุ่งสร้างการตระหนักรู้ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา บีเอสเอ ฯลฯ ขณะเดียวกันดำเนินการตรวจค้นและดำเนินคดีองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดตามเบาะแสที่ได้รับจากการแจ้งผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าของลิทสิทธิ เมื่อเดือนม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมาดำเนินการกับองค์กรที่ทำผิดไปแล้ว 87 คดี
นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส พันธมิตรซอฟต์แวร์(บีเอสเอ) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ได้เดินหน้าโครงการรณรงค์กระตุ้นองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย โดยมุ่งเป้าไปที่บริษัทด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบ และการผลิตกว่า 2 หมื่นแห่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ
ปีนี้จัดทำขึ้นใน 4 ประเทศประกอบด้วย 5 พันบริษัทในไทย 5 พันบริษัทในฟิลิปปินส์ 5 พันบริษัทในมาเลเซีย และ 5 พันบริษัทในอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มูลค่าหลักหมื่นล้านบาท ดังนั้นซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเป็นปราการด่านแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก
บีเอสเอ คาดว่า ปัจจุบันมีบริษัทด้านวิศวกรรมและการออกแบบกว่า 1 แสนแห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ่นส์ พบด้วยว่ามีภาคเอกชนที่ดำเนินกิจการด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการออกแบบถูกปรับหรือได้รับโทษจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ่นส์เกือบทุกสัปดาห์