สวทช.เสริมเขี้ยวเล็บ "ไทยเอสซี" ติดตั้ง "ซูเปอร์คอมพ์" พรีเมียมยกระดับ วทน.

สวทช.เสริมเขี้ยวเล็บ "ไทยเอสซี" ติดตั้ง "ซูเปอร์คอมพ์" พรีเมียมยกระดับ วทน.

ไทยเอสซี ทุ่มงบ 600 ล้านบาท ดึง “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” สนับสนุนในการคำนวณข้อมูลที่ซับซ้อนและมีปริมาณมหาศาล รองรับการวิจัยและประมวลผลข้อมูลขั้นสูง พร้อมปั้นกำลังคนสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประมวลผลประสิทธิภาพสูง

ขึ้นชื่อว่า “ภัยพิบัติ” ฟังดูเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ มักจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และโผล่มาในแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว จะดีแค่ไหน? ถ้าเราสามารถคาดการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ในแบบที่เราทุกคนจะสามารถรับมือกันได้ทัน ? เช่นเดียวกับวงการแพทย์ที่เสาะแสวงหาเทคโนโลยีสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ รวดเร็วและทันท่วงที

“ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” เปรียบเสมือนพระเอกที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในการคำนวณข้อมูลที่ซับซ้อนและมีปริมาณมหาศาล ทั้งยังสามารถทำได้อย่างรวดเร็วในแบบที่ระบบคอมพิวเตอร์ธรรมดาไม่สามารถทำได้อีกด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง” หรือไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) ในปี 2562 ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ให้บริการทรัพยากรสนับสนุนการทำวิจัยตอบโจทย์ประเทศ

เพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยไทย

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า การทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการแพทย์ โรคระบาด พีเอ็ม 2.5 และ COP26 ซึ่งพูดถึงเรื่องคาร์บอนวิชชั่นต่างๆ ที่ล้วนต้องอาศัยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์

“ในอดีตซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีติดตั้งใช้งานบ้างแล้วในขนาดเล็กๆ อาทิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ใช้พัฒนาระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยาที่ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์อากาศ หลายส่วนอาจจะเป็นเครื่องที่ถูกใช้งานมาระยะหนึ่ง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งการลงทุนเช่นนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการใช้งาน และลดการบำรุงรักษา" อีกทั้งในส่วนของไทยเอสซีจะมีการพัฒนาบุคลากรด้านเอไอและด้านการประมวลผลประสิทธิภาพสูง ภายในระยะเวลา 6 ปีให้ได้ 3 หมื่นคน”

ส่วนของไทยเอสซีคาดว่าซูเปอร์คอมพ์จะสามารถให้บริการครบทุกภาคส่วนได้ราวปลายปี 2565 ทั้งหน่วยงานการศึกษา ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อที่จะไม่ต้องนำข้อมูลออกไปประมวลผลยังต่างประเทศ นับเป็นการช่วยลดต้นทุนในการประมวลผลกว่า 2-3 เท่า

ขณะที่ปัจจุบันไทยเอสซี ให้บริการจำกัดเฉพาะโครงการวิจัยภายใน สวทช. เป็นหลัก ในการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (HPC) ภายใต้ระบบคลัสเตอร์ TARA HPC ที่ประกอบด้วย 4,320 cores และ 28 NVIDIA V100 GPU โดยมีพื้นที่เก็บข้อมูล 750 เทราไบต์ (TB) เชื่อมต่อบนระบบเครือข่ายความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที

ยกตัวอย่างการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เช่น ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางไทยเอสซี ได้สนับสนุนการวิจัยและประมวลผลข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัส เพื่อหาแนวทางป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 อาทิ การสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการคัดสรรสารออกฤทธิ์ต้านไวรัสที่มีอยู่ในยารักษาโรคที่ใช้งานอยู่เดิม เพื่อลดระยะเวลาในการผลิตยา ซึ่งขณะนั้นยังไม่มียารักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

อีกทั้งได้ให้บริการแก่กลุ่มวิจัย COVID-19 Network Investigations (CONI) ดำเนินโครงการถอดรหัสจีโนมไวรัสสายพันธุ์โควิดที่ระบาดในไทย โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลยืนยันสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ลดเวลาคำนวณจาก 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 2 ชั่วโมง สามารถส่งมอบข้อมูลให้แก่หน่วยงานทางการแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนรับมือการระบาดของโรคได้ทันการณ์

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ พัฒนาการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง ด้านมลพิษทางอากาศ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือพีเอ็ม 2.5 ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ 9 จังหวัดในภาคเหนือของประเทศ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ล่วงหน้าถึง 3 วัน

ติดตั้งซูเปอร์คอมพ์ดีที่สุด Top100

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ไทยเอสซีได้ลงนามใช้ประโยชน์ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จากบริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) หรือ เอชพีอี ซึ่งมีขีดความสามารถการคำนวณที่สูงกว่าระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ สวทช. มีอยู่เดิม (ระบบ TARA) ถึง 30 เท่า เป็นระบบที่ดีที่สุดของโลกโดยติดอันดับท็อป 100 จากการจัดอันดับประสิทธิภาพซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก โดยองค์กร top500.org

ระบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักวิจัย ได้แก่ 1.ปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้ระบบ HPC ในขั้นตอนการสอน AI โมเดล ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูงโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการพัฒนา

2.พันธุวิศวกรรม และ ชีวสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ที่ต้องจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมปริมาณมหาศาลของคน พืช และสัตว์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ต่อยอดในงานวิจัยหรือการพัฒนา อาทิ การพัฒนาระบบการแพทย์แม่นยำ และการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีวาระของชาติในปัจจุบัน

3.การจำลองอนุภาคในระดับนาโน และอะตอมสำหรับการวิจัยวัสดุขั้นสูง เช่น การพัฒนายา วัคซีน อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ แบตเตอรี่ และการพัฒนาวัสดุล้ำยุคต่างๆ 4.การทำแบบจำลองทางวิศวกรรม สำหรับการวิจัยทางอุตสาหกรรม เช่น การทดสอบประสิทธิภาพของยานยนต์ในด้านความเร็วและความปลอดภัย เพื่อลดการลงทุนสร้างต้นแบบเทคโนโลยี

5.บรรยากาศศาสตร์ และการจัดการภัยพิบัติ เช่น การคำนวณคาดการณ์สภาพอากาศ การจำลองภัยพิบัติ หรือคาดการณ์ระดับค่ามลพิษของประเทศ เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง