“กรวยยางเทอร์โมพลาสติก” วิจัยสู่ห้าง ยกระดับขับขี่ปลอดภัย

“กรวยยางเทอร์โมพลาสติก” วิจัยสู่ห้าง ยกระดับขับขี่ปลอดภัย

กว่า 30 ปีที่บริษัท ธนัทธร จำกัดโลดแล่นบนเส้นทางธุรกิจผลิตและจำหน่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์จราจรบนท้องถนน ทั้งงานติดตั้งป้ายนำทาง ป้ายจราจรพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟสัญญาณจราจร งานซ่อมไฟฟ้าบนท้องถนน มาวันนี้ได้ขานรับนวัตกรรมเทคโนโลยีสู่การผลิต "กรวยจราจรยางเทอร์โมพลาสติก"

ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะทำการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ใส่ใจในเรื่องคุณภาพเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันภัยบนท้องถนนได้อย่างสูงสุดบวกกับจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ “ยางพารา” หรือ ยางธรรมชาติ มาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้น

จึงเกิดการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในการคมนาคมภายในประเทศ เช่น หลักกิโลเมตร แนวกันโค้ง แผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต และ กรวยจราจร ที่มีการใช้งานแพร่หลาย

ทางบริษัทมองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและลดต้นทุน จึงมีความสนใจที่จะเปิดสายการผลิตวัสดุยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีสมบัติเหมือนยางแต่สามารถขึ้นรูปได้เหมือนเทอร์โมพลาสติก ทำให้สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสีสัน และรูปร่างต่างๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้

อุปกรณ์จราจรโตต่อเนื่อง 10%

วษุวัต บุญวิทย์ ผู้บริหารบริษัท ธนัทธร จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจอุปกรณ์จราจรไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 10% ต่อปี โดยมีความต้องการใช้งานไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น กรวยจราจร ป้ายจราจร และแบริเออร์ต่างๆ เพราะถนนยังคงมีการขยับขยาย ส่วนจุดพีคส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงก่อนเทศกาลอย่างสงกรานต์และปีใหม่

 

ผู้ประกอบการด้านนี้ในไทยมีประมาณ 10 ราย แต่ละรายก็จะมีการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทางด้านการจราจรที่แตกต่างกันออกไป ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของธนัทธรอยู่ประมาณ 30-40% ของตลาดรวม กลุ่มเป้าหมายจะเป็นหน่วยงานราชการ 100% โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม

ส่งขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย

“จุดแข็งของบริษัทคือ การมีโรงงานผลิตเอง และมีพัฒนาคิดค้นวิจัยสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งบริษัทให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและงานวิจัยเป็นอย่างมาก ล่าสุดมีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์ และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก นำมาสู่การผลิต “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ซึ่งได้จัดจำหน่ายกรวยยางชนิดใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว ในขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อจดแจ้งผลิตภัณฑ์ “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ให้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยอีกด้วย"

ก่อนหน้านี้บริษัททำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ได้รับถ่ายทอดนวัตกรรม แต่ปัจจุบันจากการมองเห็นความสำคัญของการใช้งานยางพาราเป็นส่วนผสม จึงได้เบนเข็มเข้าสู่เส้นทางด้านนวัตกรรมและงานวิจัย จากเดิมใช้เป็นเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมีเพียงอย่างเดียว จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยและพัฒนาจากยางพารา และในอนาคตตั้งเป้าที่จะพัฒนาอุปกรณ์ทางด้านการจราจรที่มียางพาราจากธรรมชาติเป็นส่วนผสมมากขึ้น อาทิ ฟุตบาท ที่กั้นลานจอดรถ เป็นต้น”

 

ในความร่วมมือกับเอ็มเทคนี้ เพราะมองเห็นว่านวัตกรรมกรวยยางเทอร์โมพลาสติก เป็นเทคโนโลยีที่เอ็มเทคคิดค้นขึ้น ซึ่งจะต้องมีการรักษาความลับของสูตรการผสมต่างๆ ขณะที่ปัจจัยทางด้านราคายางนั้นไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของบริษัท เนื่องจากราคาค่อนข้างที่จะคงที่ แต่ทางฝั่งเม็ดพลาสติกประเภทเอทิลีนไวนิลแอซีเทตโคพอลิเมอร์นั้นมีราคาสูงขึ้น หากนำมาเฉลี่ยราคากันจะทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตยังคงไปได้และไม่สูงมากนัก

“ยางพารา” มูลค่ามากกว่าที่คิด

กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) ซึ่งเป็นการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกันในเครื่องอัดรีดสกรูคู่ ร่วมกับเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชันทำให้ได้ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เมื่อนำไปฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องฉีดพลาสติก จึงได้ผลิตภัณฑ์กรวยจราจรที่มีลักษณะและผิวสัมผัสเหมือนยางซึ่งมาจากส่วนผสมยางธรรมชาติ 30% จากเดิมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเอทิลีนไวนิลแอซีเทตโคพอลิเมอร์

นอกจากเพิ่มความทนทานต่อการแตกหักและพับงอ ยังทำให้กรวยจราจรยึดเกาะพื้นผิวถนนได้ดีขึ้น เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นราว 0.2 กิโลกรัมต่อชิ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้นำไปผลิตตามมาตรฐานทันทีอีกกว่า 7 ตัน 

ทั้งนี้ จากที่บริษัทได้ผลิตและจัดจำหน่ายกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ได้การตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างดี จึงได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการตลาดได้มากขึ้นอีกด้วย และขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อจดแจ้งผลิตภัณฑ์ให้กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย

ส่วนกำลังการผลิตเต็มคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 คาดว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณ 200-300 ชิ้นต่อวัน ส่วนความท้าทายในมุมมองของการดำเนินธุรกิจ วษุวัต มองว่า การทำให้ประชาชนสามารถสัญจรด้วยความปลอดภัยได้ต้องอาศัยการดีไซน์อุปกรณ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง ดังนั้น จึงต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประกอบ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ด้วยความที่บริษัทมีประสบการณ์มาอย่างยาวนานจึงสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง