เอ็นไอเอ-ม.แม่โจ้ ดัน “ทาซ่า” สมาคมสตาร์ทอัพเกษตรไทย เสิร์ฟประชากรโลก

เอ็นไอเอ-ม.แม่โจ้ ดัน “ทาซ่า” สมาคมสตาร์ทอัพเกษตรไทย เสิร์ฟประชากรโลก

เปิดตัวสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ “ทาซ่า” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ ของสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหาทางการเกษตร พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งเป้าสร้างย่านนวัตกรรมเกษตรแม่โจ้สู่ “วัลเลย์นวัตกรรมการเกษตรของไทย”

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายสำคัญด้านการเกษตรที่ทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งจำนวนประชากรโลกที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 รวมถึงมูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารทั่วโลกที่สูงถึง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 234 ล้านล้านบาท ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารและการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 40 ของอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้สตาร์อัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup เป็นหนึ่งในสาขาที่มีโอกาสการเติบโตสูง ด้วยเหตุนี้ NIA จึงมีนโยบายในการเร่งส่งเสริมและผลักดันสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรของประเทศไทย รวมถึงสร้างให้เกิดระบบนิเวศด้วยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

เอ็นไอเอ-ม.แม่โจ้ ดัน “ทาซ่า” สมาคมสตาร์ทอัพเกษตรไทย เสิร์ฟประชากรโลก

ซึ่งการจัดตั้งสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ TASA ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ในการรวมพลังของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ ของสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหาทางการเกษตรที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าสร้างให้ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ให้กลายเป็น “วัลเลย์นวัตกรรมการเกษตรของไทย” ที่จะมีความพร้อมทั้งด้านงานวิจัย พื้นที่ทดสอบ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทยที่สามารถขยายสู่ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

 รองศาสตราจารย์ วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นจุดแข็งและแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแม่โจ้  เรามีองค์ความรู้แบบครบวงจร และก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม 2  คือกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยไม่ละเลยความกินดีอยู่ดีและความเจริญวัฒนาของชุมชนฐานราก เรามีนโยบายในการส่งเสริมระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งคำว่าระบบนิเวศหรือ Ecosystem นี้ หมายรวมถึงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัยให้ได้รับการพัฒนา เติบโต และทำงานสอดประสานกันทั้งองคาพยพ เป็นภาคีเครือข่ายที่มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน  

แน่นอนว่า การจัดตั้งสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ TASA (ทาซ่า) ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับพัฒนาการเกษตรของไทย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความร่วมมือ การต่อยอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ผนวกกับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรและอาหารที่จะสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องเกษตรกร ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรร่วมกันผ่านหลากหลายกิจกรรม เช่น การสร้างย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ที่ได้รับความร่วมมือจาก NIA เทศบาลท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชน

"สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจะเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาเชื่อมโยงและร่วมสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีการเริ่มดำเนินการแล้วอย่างโครงการ “เชียงใหม่โมเดล”  โครงการ MJU-2-T (เอ็มเจยู ทูที) หรือโครงการที่สร้างคนรุ่นใหม่ เช่น  New Breed Smart Farmer ตลอดจนโครงการอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ตลอด Supply Chain ให้ได้ผลิตผลคุณภาพสูงและเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพเกษตรในกลุ่มการสร้างตลาดออนไลน์ ให้กระจายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในวงกว้าง  รวมถึงการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรรายใหม่ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร  Maejo Agro Food Park หรือ MAP  ได้อีกด้วย”


 ด้าน นายคมธัช วัฒนศิลป์ นายกสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ TASA ได้กล่าวขอบคุณ NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมมือบูรณาการสนับสนุนการทำงานร่วมกันในการร่วมพลิกโฉมภาคการเกษตรไทย “การจัดตั้ง TASA ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการผสานความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรด้วยกัน ตลอดจนสมาชิกกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไทยประสบความสำเร็จในการประกอบการ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา และพัฒนาภาคการเกษตรไทยเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 และ BCG model ของรัฐบาล

โดยมีพันธกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) Synergy: สร้างความร่วมมือ เชื่อมโยง เชื่อมประสานธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไทยด้วยกันเองและกับองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการพัฒนานวัตกรรมสูงสุดต่อเกษตรกรไทย 2) Standard: สร้างมาตรฐานด้านนวัตกรรมเกษตรให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องตามหลักสากล และ 3) Sustainable: สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ และธุรกิจชุมชนของเกษตรกรด้วยการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคการเกษตร”สมาคมฯ จึงเป็นกลุ่มอาสาที่สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Maker เพื่อพลิกโฉมวงการเกษตรไทยและภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ในช่วงก่อตั้งมีสมาชิกอยู่ 26 ราย ที่มีแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรตลอดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวทางร่วมกันที่จะสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน และการสร้างตลาดให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งต่อไปจะมีการเพิ่มทั้งจำนวนและคุณภาพของสตาร์ทอัพเกษตรได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้การใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ที่จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบ S-curve ต่อไป ดังนั้นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และหน่วยงานพันธมิตร ที่สนใจร่วมดำเนินงานกับสมาคมฯ สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ตั้งแต่วันนี้ โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : TASA-Thai AgTech Startup Association