มติเอกฉันท์ “สรณ” นั่งประธานบอร์ด กสทช.
บอร์ดใหม่กสทช 5 คนลงคะแนนโหวตเลือก “หมอสรณ” นั่งประธานบอร์ดคนใหม่ ด้วยมติ 4:1 คาดภายในสัปดาห์นี้เตรียมส่งอย่างเป็นทางการลงประกาศในราชกิจจาฯก่อนดีเดย์นัดประชุมครั้งแรกปลายเดือน สางต่อ 3 ภารกิจสำคัญรอคลี่คลาย
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ชุดใหม่ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการกสทช. สายงานกิจการภูมิภาค เสนอชื่อด้านกิจการกระจายเสียง นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอชื่อด้านกิจการโทรทัศน์ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอชื่อด้านคุ้มครองผู้บริโภค นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. ถูกเสนอชื่อด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ นายศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอชื่อด้านเศรษฐศาสตร์ ได้มีการประชุมในวาระเลือก ประธานบอร์ดกสทช. คนใหม่
โดยผลปรากฎว่า นพ.สรณ ได้ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดคนใหม่ด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 โดย ทั้งนี้ ในลำดับต่อไปจะส่งรายชื่อดังกล่าวลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นประธานบอร์ดจะเป็นผู้กำหนดวันประชุมบอร์ดนัดแรกซึ่งคาดว่าจะได้ฤกษ์เข้าสำนักงานกสทช.ในช่วงปลายเดือนม.ค.หรือสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.นี้
ทั้งนี้ การเลือกบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ เสร็จสิ้นหลังจากที่วุฒิสภาถกวาระลับนานกว่า 6 ชั่วโมงไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาการตรวจสอบประวัติ 7 ว่าที่บอร์ดกสทช.ก่อนลงมติ เห็นชอบเพียง 5 คนดังกล่าวอีก 2 คนถูกตีตก ได้แก่นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ และนายธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ สำหรับตำแหน่งอีก 2 คนที่เหลือนั้น จะเร่งดำเนินการสรรหาเพื่อให้ครบถ้วนโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ที่กรรมการสรรหาว่าจะเปิดรับสมัครใหม่หรือเลือกรายชื่อที่เคยเข้าสมัครมาแสดงวิสัยทัศน์อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแล้วจะพบว่าบอร์ดกสทช.ชุดใหม่มีภารกิจแร่งด่วนที่กำลังรอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ชุดใหม่มาตัดสินใจและต้องได้ข้อสรุปเร็วที่สุดอย่างน้อยภายในไตรมาสแรกของปี 2565 ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1. การประมูลดาวเทียม ว่าจะเดินหน้าประมูลต่อหรือไม่อย่างไร เพราะทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะปล่อยให้วงโคจรหลุดหากประเทศไทยไม่มีการใช้งาน ขณะที่กสทช.เองต้องมีหน้าที่รักษาวงโคจรตามกฎหมาย
2. เรื่องประมูลคลื่นวิทยุกระจายเสียง ที่เริ่มมีการกำหนดออกมาว่าจะประมูลให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 เม.ย.2565 และ 3. เรื่องการกำกับดูแลเรื่องการควบรวมกิจการ หากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ศึกษาธุรกิจกันและเกิดการควบรวมตามที่ได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือน มี.ค.2565
โดยในช่วงแรกประด็นดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะบอร์ดกสทช.ชุดรักษาการออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ เพราะเป็นบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในใบอนุญาต แต่สุดท้ายแล้วเมื่อบริษัทแม่ควบรวมกัน บริษัทลูกทั้ง บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) นั้น เป็นหน้าที่ของกสทช.ต้องกำกับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้