‘บลูบิค’ ผนึก 'จีเอ็มวีพาย' ดันบริการใหม่เสริมแกร่งธุรกิจที่ปรึกษาดิจิทัล
“บลูบิค” ผนึก “จีเอ็มวีพาย” ลุยบริการที่ปรึกษาด้านเอสเอพีเต็มสูบ ชูจุดแข็งตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบขั้นกว่า ประสิทธิภาพสูง เพิ่มความคล่องตัว ปักธงเจาะองค์กรขนาดกลาง-ใหญ่ คาดปีนี้ช่วยหนุนรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังเข้าซื้อกิจการ บริษัท จีเอ็มวีพาย จำกัด ในสัดส่วน 80% เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเสริมความแข็งแรงการให้บริการด้านระบบเอสเอพี (SAP) และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมเต็มที่ที่จะให้บริการลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ
การเข้าซื้อบริษัทดังกล่าว เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านบริการที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบ 360 องศา ทั้งบริษัทมองเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจร่วมกันกับจีเอ็มวีพายอย่างยั่งยืน เพราะบริการด้านเอสเอพีได้เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านบริการให้กับลูกค้าทั้งปัจจุบันและอนาคตของบลูบิคได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ช่วยเสริมการเติบโตให้จีเอ็มวีพายในระยะยาว โดยในปี 2565 นี้ มีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากบริการที่ปรึกษาด้านเอสเอพีไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายหลักมุ่งโฟกัสทั้งองค์กรขนาดกลางและใหญ่ที่ใช้งานระบบเอสเอพีอยู่แล้ว
ปัจจุบัน พบว่าองค์กรที่ใช้ระบบเอสเอพีอยู่แล้วส่วนใหญ่ยังใช้งานระบบได้ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นการทำ “ERP Maximization” ที่เป็นจุดแข็งของบริษัทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับลูกค้า อีกทั้งนวัตกรรม “LISMA (LINE as SAP Mobile Application)” การเชื่อมต่อระบบเอสเอพีเข้ากับแพลตฟอร์มไลน์ที่พัฒนาโดยจีเอ็มวีพายจะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้สะดวก ง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
บลูบิคประเมินแนวโน้มตลาดเอสเอพีในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกว่า ยังคงมีการเติบโตอีกมาก เนื่องจากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ จึงมองหาระบบอีอาร์พีเพื่อนำมาบริหารจัดการองค์กร และระบบเอสเอพี ถือเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่องค์กรให้ความสนใจ อีกทั้งกลุ่มองค์กรที่ปัจจุบันใช้งานระบบเอสเอพีอยู่ก่อนแล้วต่างเร่งอัปเกรดระบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น
นายวรัทย์ ไล้ทอง กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท จีเอ็มวีพาย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจมีการนำระบบเอสเอพีมาใช้ แต่หลายแห่งกลับพบว่าไม่สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้สูญเสียทั้งงบประมาณและโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล
สำหรับการให้คำปรึกษาจะเน้นไปยัง 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. Performance Tuning ให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาระบบเอสเอพีที่ทำงานช้า อันเกิดจากโปรแกรมที่ผู้พัฒนารายเดิมทำไว้ไม่ถูกต้องตามหลักการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลบนระบบที่เพิ่มมากขึ้นในระยะยาวได้
ขณะที่ 2. Enhancement & Reengineering แนะนำเพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานบนระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมการวิเคราะห์และเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เน้นที่การพัฒนาโปรแกรมเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกและลดข้อผิดพลาดในการทำงานให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และ 3. Problem Investigation ค้นหาสาเหตุของปัญหาหรือข้อผิดพลาดทางเทคนิคบนระบบ
“จุดแข็งของเราจะมาจากการให้บริการที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น รวมถึงการทำโปรแกรมเพิ่มเติมบนระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับผู้ใช้งาน โดยไม่กระทบกับกระบวนการทำงานและระบบควบคุมมาตรฐานของเอสเอพี”
นอกจากนั้น การให้บริการจะครอบคลุมบริการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การออกแบบกระบวนการทำงานบนระบบเอสเอพี (SAP Business Process Flow Design) 2.การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมบนระบบเอสเอพี (SAP Customization and Enhancement) 3.การให้ความช่วยเหลือและดูแลรักษาระบบเอสเอพี (SAP Support and Maintenance) และ 4.การจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบเอสเอพี (SAP Training)