อ่านไมล์สโตน 'ลาซาด้า' ไม่ลดคน-ไม่หยุดลงทุน เพราะตลาดยังโต
ลาซาด้าได้ระมัดระวังค่าใช้จ่ายมาตลอด 2 ปี เมื่อเกิดภาวะชะงักด้านกำลังซื้อเราจึงหันมาลงทุนด้านระบบโลจิสติกส์และหาสินค้าที่มีความหลากหลายและอยู่ในหลายระดับราคา และเราก็ไม่มีแผนปลดพนักงานด้วย
วีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย ที่เป็นคนไทยคนแรกที่นั่งเก้ากุมบังเหียนตำแหน่งนี้ เริ่มงานเมื่อก.ค.2565 จากที่คลุกวงในอยู่ในลาซาด้ามา 3 ปีในตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ Chief of Staff หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสำนักงาน และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดูแลรับผิดชอบขยาย LazMall และร้านค้าบนแพลตฟอร์ม เล่าให้ฟังว่า เป้าหมายของผมคือผลักดันให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตไปตั้งแต่ฐานราก เพราะหากคำนวณถึงสัดส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 12-15% เมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกโดยรวมในประเทศ ดังนั้น ตลาดนี้ยังมีรูมในการขยายตัวได้อย่างมหาศาล
ตลาดยังขยายตัวอีกมาก
ทั้งนี้ ตัวเลขสถิติการใช้งานแอปพลิเคชันลาซาด้าตั้งแต่ที่เริ่มเปิดบริการปัจจุบัน
ซึ่งวันนี้ลาซาด้ามีอายุครบ 10 ปีแล้วพบว่า ในแต่ละเดือนมียอดผู้ใช้งาน (Active User) ราว 30 ล้านราย โดยในจำนวนนี้คิดเป็น 76% ของผู้ใช้งานที่มีการช้อปมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน มีร้านค้าอยู่ในลาซาด้ามากกว่า 500,000 ร้านค้า
“เราก็มีความฝันอยากให้ไทยเป็นตลาดออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ที่ขยายตัวและมีจำนวนผู้ใช้งานให้เหมือนที่ประเทศจีนที่มีอัตรายอดการใช้เทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศถึง 40% ”
นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ลาซาด้าเตรียมเปิดตัวบริการ LazGoGlobal โดยการดึงเอาคู่ค้าของลาซาด้าที่อยู่ทั้ง LazMall และลูกค้าเอสเอ็มอีให้สามารถนำสินค้าไปขายได้ในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดจากที่จำกัดอยู่ในประเทศไทย 70 ล้านคน เป็น 330 ล้านคนในต่างประเทศเช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
ได้รับประสบการณ์ดีที่สุด
วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ลาซาด้าให้ความสำคัญและยังมุ่งเน้นให้เกิดขึ้นกับบริการของเราคือโฟกัสที่ประสบการณ์ของลูกค้า เริ่มต้้งแต่การเลือกซื้อโปรดักส์ ความสะดวกและง่ายในการหาสินค้าในเสิรช์ เอนจินของลาซาด้าเอง โดยบริษัทยังคงยืนยันที่จะลงทุนด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และระบบเพย์เมนต์ให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างดีที่สุด ทั้งที่เป็น Buyer และ Seller ที่อยู่ในอีโคซิสเต็มส์ทั้งหมด
ซึ่งแม้เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยอมรับว่า อยู่ในสภาวะถดถอยแต่ลาซาด้ายังไม่มีนโยบายปลดพนักงาน หรือปรับลดรายจ่ายใดๆลงซึ่งในลาซาด้ามีพนักงานทั้งหมด 1,300 คน และที่ผ่านมาลาซาด้าได้ระมัดระวังค่าใช้จ่ายมาตลอด 2 ปี
ดังนั้น ที่ผ่านมา เมื่อเกิดภาวะชะงักด้านกำลังซื้อเราจึงหันมาลงทุนด้านระบบโลจิสติกส์และหาสินค้าที่มีความหลากหลายและอยู่ในหลายระดับราคาเพื่อให้ลูกค้าสามารถมีตัวเลือกได้อย่างหลากหลาย
ปรับเปลี่ยนให้ตรงใจลูกค้า
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากหลายๆปัจจัย แต่ในส่วนตัวมองว่าแม้อัตรายอดคำสั่งซื้อไม่ได้ลดลงแต่เม็ดเงินที่ใช้จ่ายจะลดลง ซึ่งการซื้อสินค้ามากขึ้นหรือน้อยลง ตัดสินใจซื้อจากราคา และคุณภาพประกอบกัน โดยหลังจากที่จับข้อมูลตัวเลขก็พบว่า "ราคา” เป็นเรื่องหลักอีกต่อไป แต่พิจารณาด้วยว่าซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มนี้แล้วได้ของแท้หรือไม่ ส่งเร็วหรือไม่ โดยปัจจุบันจากคู่ค้าที่เป็นโลจิสติกส์ของลาซาด้าจะใช้เวลาส่งของถึงมือลูกค้า 2.5 วัน โดยลาซาด้าเองก็มีความพยายามจะปรับลดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
สิ่งที่เราพยายามทำ คือ 1.ปรับปรุงเทคโนโลยีต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกให้ Seller และ Buyer ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น 2.พัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีความพร้อมและรวดเร็ว 3.การหาสินค้าที่มีความหลากหลายและตรงความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น ๆ
“การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซต้องเติบโตไปพร้อมๆกับแบรนด์และคู่ค้าที่อยู่ในอีโคซิสเต็มส์ ทั้งยี่ปั้ว ซาปั้ว หรือแม้แต่รายย่อยที่เล็กที่สุด เพื่อสร้างพื้นฐานอนาคตที่จะเข้าสู่สังคมอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร”
รายงานข่าวแจ้งว่า ลาซาด้า ประเทศไทย รายงานงบการเงินปี 2564-2565 ออกมาล่าสุด แสดงถึงกำไรที่บริษัทสร้างได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีรายได้ 20,675 ล้านบาท และกำไร 413 ล้านบาท ส่วนลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด ทำรายได้ 16,060 ล้านบาท และกำไรสูงถึง 2,700 บาท
โดยหลังจากทำธุรกิจในไทยมา 10 ปี ลาซาด้าเริ่มเข้าสู่โหมดการทำกำไรของธุรกิจแล้วจากการควบคุมรายจ่ายได้ดี และยังได้ปรับเพิ่มค่าบริการในการขายผ่าน มาร์เก็ตเพลส จากเดิม 1% เป็น 2% ซึ่งเป็นอีกสัญญานที่ชัดว่าลาซาด้ามุ่งสู่การทำกำไรเต็มที่