‘หัวเว่ย’ ชู ‘5จี’ หนุนไทยปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0
“หัวเว่ย” ชี้ 5จี เอไอ ไอโอที ตัวจักรพลิกโฉมประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 เล็งส่งมอบแพลตฟอร์มการเชื่อมต่ออัจฉริยะ หนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ผลักดันการเติบโตแบบยั่งยืน
นายชวพล จริยวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทรนด์สำคัญในด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่ควรจับตามองในปีนี้คือ การมุ่งสู่ยุคแห่ง 5จี และไอโอทีซึ่งจะพลิกประสบการณ์การใช้งานในกลุ่มประชาชนทั่วไป รวมถึงการประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม
“การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะหรือ อุตสาหกรรม 4.0 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแพลตฟอร์มการเชื่อมต่ออัจฉริยะ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี การประมวลผลบนคลาวด์ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน"
อย่างไรก็ดี การบริการของอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นการส่งมอบรูปแบบการบริการที่เท่าเทียมและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรมจะผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานมากขึ้น ทั้งยังช่วยรองรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ส่วนในด้านทักษะของบุคลากรจะต้องได้รับการยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี 5จี ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และคลาวด์ เพื่อรองรับอุปสงค์ของตลาด ขณะเดียวกันในระบบนิเวศของภาคอุตสาหกรรมจะมีความเปิดกว้าง เท่าเทียม และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จะทำให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้ทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการประยุกต์ใช้ 5จี ในภูมิภาคอาเซียน และเริ่มมีการนำร่องไปแล้วในหลายภาคส่วนได้แก่ สถานีรถไฟอัจฉริยะ 5จี ในกรุงเทพฯ เขตพื้นที่อัจฉริยะ 5จี ในเชียงใหม่ การเกษตรอัจฉริยะ 5จี ในเชียงราย รวมไปถึงท่าเรืออัจฉริยะ 5จี ที่ชลบุรี ฯลฯ
สำหรับ หัวเว่ยพร้อมสนับสนุนการมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทยด้วยกลยุทธ์ “GUIDE” ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนแพลตฟอร์มการเชื่อมต่ออัจฉริยะ เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ไทย และผลักดันศักยภาพในภาคอุตสาหกรรม
โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะประกอบด้วย 1.โครงการประเภท Gigaverse Initiative เพื่อส่งมอบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการส่งต่อข้อมูลที่มากระดับกิกะบิต 2.ระบบการทำงานอัตโนมัติความเร็วสูง Ultra-Automation เพื่อส่งมอบกระบวนการทำงานแบบดิจิทัลที่คล่องตัวมากขึ้น
ขณะที่ 3.การส่งมอบ Intelligent Computer & Network ในรูปแบบการบริการ ทำให้เกิดเครือข่ายและการประมวลผลดิจิทัลที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ 4.การส่งมอบประสบการณ์แบบ Differentiated Experience ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ
สุดท้าย 5.การเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance) เพื่อเพิ่มจำนวนบิตและลดการใช้พลังงาน เพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน