'ออราเคิล' เปิด 6 คำทำนาย ‘คลาวด์’ เมื่อโลกก้าวสู่ยุคแห่งไอที
กระแสการใช้ “คลาวด์” ที่แพร่หลายไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในวันนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ องค์กรทุกประเภทต่างตระหนักแล้วว่า ไม่มีผู้ให้บริการคลาวด์ “สำเร็จรูป” รายใดที่จะสามารถทำงานได้แบบเบ็ดเสร็จ
เพราะธุรกิจต้องการระบบคลาวด์ที่ดีที่สุดและเหมาะกับภาระงานที่แตกต่างกัน เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2566 บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้แค่คลาวด์สาธารณะเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการทางเลือกที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดการภาระงานที่เหมาะกับโจทย์ธุรกิจ
ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ธุรกิจกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนและบริหารจัดการระบบคลาวด์ของตนเอง
การ์ทเนอร์ ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการคลาวด์สาธารณะของไทยปี 2566 จะสูงขึ้น 31.8% โดยสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 20.7%
ระบบเดียวตอบโจทย์ได้ไม่หมด
ออราเคิลประเมินว่า คลาวด์ระบบเดียวไม่สามารถตอบโจทย์โลกทั้งใบได้ในวันนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกก้าวสู่ยุคไอทีเต็มรูปแบบมี 6 เทรนด์เทคโนโลยีคลาวด์ที่น่าจับตามองดังนี้
- 1. ระบบมัลติคลาวด์จะถูกใช้งานเป็นเรื่องปกติ : บริษัทต่างๆ จะใช้ระบบคลาวด์สาธารณะที่เหมาะสมภาระงานหลักของตนเองมากที่สุด และการใช้งานจะเพิ่มสูงขึ้นตลอดทศวรรษข้างหน้า แม้แต่อุตสาหกรรมที่อยู่มาอย่างยาวนานซึ่งมักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อาทิ บริการทางการเงิน ก็ยังนำคลาวด์มาใช้มากกว่าหนึ่งระบบ
- 2. ภาคธุรกิจต้องการทางเลือกเพื่อการพัฒนา : การใช้งานที่เรียกว่า “ไฮบริด” และ “กระจายศูนย์ (Distributed)”กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก โดยในโมเดลนี้บริษัทจะจัดการภาระงานบางอย่างบนคลาวด์สาธารณะภายนอกและจัดการระบบในศูนย์ข้อมูลที่ควบคุมโดยบริษัท สอดคล้องไปตามกฎระเบียบ กฎหมาย เหตุผลด้านประสิทธิภาพ หรือด้านอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี สาระสำคัญก็คือ ผู้ให้บริการคลาวด์ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาลในจุดที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่ผลักใสภาระการรันข้อมูลและแอปพลิเคชันทั้งหมดให้ไปตกอยู่บนคลาวด์ระบบเดียวของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง
ลดผลกระทบธุรกิจผันผวน
- 3. ทุกคนต้องการอธิปไตยในระบบคลาวด์ที่มั่นคง : ข้อดีของคลาวด์สมัยใหม่คือมีรูปแบบและขนาดที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทุกวันนี้ล้วนต้องการคลาวด์ในรูปแบบของตัวเอง หลายประเทศมีกฎระเบียบด้านอธิปไตยของข้อมูลที่กำกับว่าข้อมูลต้องถูกเก็บและประมวลผลภายในประเทศ
โดยต้องไม่ถูกส่งไปยังสหรัฐหรือเมืองที่อยู่นอกพรมแดน ทำให้โมเดลการใช้ศูนย์ข้อมูลคลาวด์เชิงเดี่ยวเพื่อให้บริการหลายๆ ประเทศในหนึ่งภูมิภาคแบบเดิมกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้ว ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎอธิปไตยของข้อมูลอาจนำไปสู่การเสียเงินค่าปรับอย่างมหาศาล ซึ่งอาจสูงหลายร้อยล้านดอลลาร์ และนี่ยังไม่ต้องพูดถึงความเสียหายต่อแบรนด์ที่ประเมินค่าไม่ได้
- 4. องค์กรต่างๆ จะใช้ HCM บนคลาวด์เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนทางธุรกิจ : ทศวรรษที่ 2020 ทำให้ได้เห็นถึงความซับซ้อนในการบริหารงานบุคคล เมื่อบริษัทต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จนต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานนอกสถานที่และยังประสบกับช่องว่างด้านทักษะจาก “การลาออกครั้งใหญ่”
ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงความจำเป็นในการฝึกอบรมทักษะที่ต้องรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ล้วนเป็นความท้าทายที่ระบบการบริหารทุนมนุษย์ (HCM) บนคลาวด์สามารถช่วยชี้นำทิศทางการทำงานของบริษัทได้
ท้าทายประชาธิปไตย ‘ข้อมูล’
- 5. บริษัทจะทำให้การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประชาธิปไตย : ธุรกิจต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับข้อมูล ทั้งข้อมูลการขายผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย สินค้าคงคลัง การผลิต ตลอดจนการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท แต่ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานก็จะไม่มีประโยชน์ ปัญหาก็คือการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น
ดังนั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) จึงถูกติดตั้งอยู่ในระบบขององค์กรเพื่อวางพื้นฐานในการทำให้ข้อมูลเป็นประชาธิปไตย
- 6. ธุรกิจต้องเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาล : เมื่อเกิดความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์และบริการมีแหล่งที่มา วิธีการผลิตและการจัดส่งอย่างไร
โดยผู้คนจำนวนมากขึ้นต้องการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีค่านิยมด้านสังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เข้มแข็ง บริษัทที่ชาญฉลาดจึงต้องพบกับความท้าทายด้วยการที่ต้องลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่การพูดปากเปล่า