'สตาร์ตอัปไทย' วิกฤติ!!!! ขาดเงินทุน คน แนะแข่งไอเดีย คิดระดับโลก

'สตาร์ตอัปไทย' วิกฤติ!!!!  ขาดเงินทุน คน แนะแข่งไอเดีย คิดระดับโลก

เศรษฐกิจโลกถดถอยฉุด ‘สตาร์ตอัปไทย’ วิกฤติส่อปิดตัว เหตุขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุนทั้งจากบิ๊กคอร์ป และสถาบันการเงิน ซ้ำร้ายบุคลากรไม่เพียงพอ ด้านนายกสมาคมฯแนะปรับมายด์เซ็ต มองไกลระดับโลก ขณะที่‘บิทคับ’ ชี้ เวนเจอร์แคปฯ หยุดเติมเงินจนกว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย

Key Points : 

  • ขาดเงินทุน คน ความสามารถฟาวเดอร์ - แนะแข่งไอเดีย คิดระดับโลก
  • ‘บิทคับ’ ชี้ เวนเจอร์แคปฯ หยุดเติมเงินสตาร์ตอัป

เส้นทางการเดินทางของ “สตาร์ตอัปไทย” ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่แค่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่แค่ "พยุงให้อยู่รอด” ยืนระยะให้นานมากพอ ยังเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องพูดถึงการก้าวขึ้นไปเป็น “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ยิ่งเป็นงานหิน สตาร์ตอัปสักราย กว่าจะได้เม็ดเงินระดมทุน ต้องฝ่าคลื่นมรสุม หลากหลายอุปสรรคและความท้าทาย

ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะเปราะบาง และกำลังถดถอยลงเรื่อยๆ เงินเฟ้อ ภาวะดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการปิด 3 แบงก์สหรัฐ ที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มสตาร์ตอัป ยิ่งทำให้สถานการณ์ และระบบนิเวศสตาร์ตอัปไทยเผชิญความยากลำบากมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจะมีหลายมุมมองที่ยังเชื่อมั่นว่าสตาร์ตอัปไทย ยังมีจุดแข็ง หากยังขาดการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

\'สตาร์ตอัปไทย\' วิกฤติ!!!!  ขาดเงินทุน คน แนะแข่งไอเดีย คิดระดับโลก

ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ตอัปไทย, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอแท็กซ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (iTAX) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ธุรกิจสตาร์ตอัปไทยขณะนี้ ทรงๆไม่อู้ฟู่มากนัก ต่างจากเมื่อ 8 ปีที่แล้ว สาเหตุหลักเนื่องมาจากขาดแคลนแหล่งเงินทุน หากจะมีเข้ามาบ้างเป็นของภาครัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าเม็ดเงินน้อยไม่เพียงพอ

รายใหญ่อยู่ได้ รายเล็กยาก-ขาดเงินทุน

“รายที่จะอยู่รอดและไปต่อได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ตั้งหลักมาได้อยู่ก่อนแล้ว ส่วนรายที่เริ่มต้นใหม่ หากไม่มีเงินทุนที่มากพอนับว่ายากมาก ซึ่งเรื่องเงินนี้เป็นปัญหาหลักที่ทุกคนต่างบ่นกัน”

 

เขากล่าวว่า 3 ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้สตาร์ตอัปแจ้งเกิด ประกอบด้วย เงินทุน บุคลากร และความสามารถของผู้ก่อตั้ง ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องของเงินทุน ซึ่งปัจจุบันหายากมาก ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนของคอร์ปอเรต ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่เหล่านี้ต่างมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน เลือกเฉพาะบริษัทที่มีความสอดคล้องกับโจทย์ธุรกิจ สามารถซีเนอร์ยีกับธุรกิจหลัก และทำให้บริษัทแม่แข็งแกร่งมากขึ้น

ดังนั้นที่จะมาลงทุนกับสตาร์ตอัปย่อยๆ ไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนใหญ่ยอมที่จะจ่ายแพงทว่าความเสี่ยงต่ำ และเป็นรายที่อยู่รอดแล้วเท่านั้น

คนที่อยากจะเริ่มก็เลยเริ่มลำบาก

ขณะที่เงินลงทุนจากภาครัฐ แม้เป็นเงินให้เปล่า ทว่าที่ได้รับการสนับสนุนกันมักเป็นหลักแสนหรือมากที่สุดก็ไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงว่าน้อยมากสำหรับการก่อตั้งธุรกิจ และเงินจำนวนนี้จะเป็นโอกาสเดียวห้ามพลาดเด็ดขาด

ขาดบุคลากร-ไร้โกลบอลมายด์เช็ต

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ ขาดแคลนบุคลากร วันนี้วิศวกรซอฟต์แวร์หายากมาก ค่าตัวสูง และมักถูกดึงตัวไปทำงานที่บริษัทใหญ่ๆ ซึ่งยอมจ่ายแพงแม้จะเป็นนิสิตนักศึกษาจบใหม่ก็ตาม

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของบริษัทต่างๆ ไปสู่เทคคอมพานี ทำให้เกิดการแย่งชิงคน แย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งบริษัทเหล่านี้มีข้อได้เปรียบด้านเงินทุนที่ไม่จำกัด

นอกจากนี้ สตาร์ตอัปไทยยังขาด โกลบอล มายด์เซ็ต หรือ รีจินอล มายด์เซ็ต ถูกจำกัดอยู่ในอีโคซิสเตมของไทย ที่มีข้อจำกัดและไม่เอื้ออำนวยให้เติบโต อีกทางหนึ่งยังเป็นเรื่องของระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ผลิตคนมาเพื่อเป็นผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนหรือนักลงทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัปไทยมีจำนวนไม่มาก การปิดตัวของ Silicon Valley Bank (SVB), Signature Bank และ Silvergate Bank ไม่น่าส่งผลกระทบมาก เพราะสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ของไทย อยู่ในช่วง Stage เริ่มต้น หาไอเดีย มองหารูปแบบการทำธุรกิจ จึงไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของกองทุน หรือนักลงทุนต่างประเทศ

บิทคับคาดปี67เงินไหลกลับ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เริ่มขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ นโยบายกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปทั่วโลกและในประเทศไทยก็เปลี่ยนเป็นชะลอการลงทุนและหยุดการลงทุนไว้ก่อน

“เวนเจอร์ แคปปิตอล ทั้งหลายประกาศนโยบายหยุดเติมเงินเข้าสู่สตาร์ตอัปทั้งหมดไว้ก่อน จนกว่าเฟด จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ 2% คาดว่าจะเห็นภาพนี้ในปี 2567”

นายจิรายุส กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสตาร์ตอัปไทย หลังจากที่เวนเจอร์ แคปปิตอล หยุดให้เงินสนับสนุน ทำให้สตาร์ตอัปหลายแห่งต้องหยุดหรือปิดกิจการจำนวนมาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากขาดแหล่งเงินทุนมาสนับสนุน ขณะที่การกู้เงินก็ทำได้ลำบาก

สตาร์ตอัปไทย ยังเสียเปรียบ

นายยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ ไลน์แมน วงใน ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” เชื่อว่า สตาร์ตอัปไทยยังมีจุดแข็ง แต่หากประเมินขณะนี้ จุดแข็งของเทคสตาร์ตอัปไทย หากทำตลาดระดับโลคอล ย่อมได้เปรียบด้านความเข้าใจตลาดและวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังเสียเปรียบด้านแหล่งเงินทุน ทรัพยากร สภาพแวดล้อม สำหรับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงบุคลากร และแม้ภาครัฐ จะเห็นความสำคัญ หันมาสนับสนุนด้านนี้มากขึ้น แต่ยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

อย่างไรก็ดีการตัดสินใจของนักลงทุนไม่ได้มีแค่ปัจจัยเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความเสี่ยงของภาวะตลาดที่ผันผวนไม่อาจควบคุมได้ ความคุ้มค่า และโอกาสการเติบโตในอนาคต ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าจะสามารถระดมทุนได้เมื่อใด หรือจะระดมทุนได้หรือไม่

ส่วนตัวคาดว่าสถานการณ์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยภาพรวมอาจไม่ได้ดีขึ้นในเร็วๆนี้ ทว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้ามีโอกาสฟื้นกลับคืนมาได้ ขณะนี้ได้เห็นว่าองค์กรต่างๆ เน้นด้านการทำกำไร ทำให้องค์กรกระชับและคล่องตัวมากที่สุด

ในส่วนของ ไลน์แมนวงใน  เป้าหมายต่อไป ยังคงเปิดกว้าง และแน่นอนว่าการไอพีโอในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนที่มองไปในระยะเวลาที่ไม่ไกลมากนักในอีก 2-3 ปีข้างหน้าที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสตาร์ตอัปสัญชาติไทยที่มาถึงจุดนี้ได้ยังไม่มี ฉะนั้นหากทำได้น่าจะเป็นการจุดประกายให้กับคนรุ่นต่อไป รวมถึงเพื่อนๆ ในวงการด้วย

เร่งปรับก.ม.เอื้อสตาร์ตอัป

นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง,ซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) และ ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks กล่าวในมุมของ สตาร์ตอัป ว่า อุปสรรคสำคัญของวงการนี้ คือ ตลาด ซึ่งไทยจะว่าเล็กก็ไม่ใช่ แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากระดับอินโดนีเซีย เวลาคนเทียบ จะชอบเทียบสตาร์ตอัปไทยกับต่างประเทศ อย่างอินโดนีเซีย หรือเมื่อก่อนจะได้ยินคำพูดเสมอว่า เมืองไทยไม่มียูนิคอร์น ซึ่งตอนนี้สตาร์ตอัปไทยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

“ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องตลาดที่มันเล็ก เลยต้องใช้เวลานานกว่าที่สตาร์ตอัปจะเติบโตมาเป็นยูนิคอร์นได้ มูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท ถ้าเราอยู่ในประเทศที่ใหญ่กว่าเราสัก 4-5 เท่า มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า อย่างอินโดนีเซีย มีประชากรอยู่ 200 กว่าล้านคนก็ใหญ่กว่าประเทศไทยแล้ว ด้วยความที่เขาคนเยอะกว่า ขนาดเศรษฐกิจเขาใหญ่กว่า หรือบางประเทศอาจเล็ก แต่ spending เขาเยอะ ก็จะยิ่งช่วยให้โตเร็ว”

นายณัฐวุฒิ มองว่า ตัวเร่งที่จะดันให้สตาร์ตอัปก้าวไปได้เร็ว คือ กฎหมาย หรือการสนับสนุนจากรัฐบาล จะเห็นบริษัทสตาร์ตอัปไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ เพราะได้เรื่องภาษีที่ดีกว่า เรื่องนี้สตาร์ตอัปทำเองไมไ่ด้ ต้องให้รัฐบาลสนับสนุน

ไลน์-เอไอเอส มองสตาร์ตอัปแข่งที่ไอเดีย

นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทไลน์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวให้ความเห็นต่อวงการ สตาร์ตอัปทั่วโลก และในประเทศไทย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การลงทุนที่น้อยลง โดยระบุว่า สตาร์ตอัป อยู่ในจุดที่ต้องแข่งขันที่เรื่องไอเดีย ไอเดียไหนตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนได้ ทำอย่างไร ให้เป็นโปรดักส์ที่ตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้ และต้องเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า สตาร์ตอัปยังมีพื้นที่ให้โตและยังมีอนาคต

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)กล่าวว่า ภาพกว้างของสตาร์ต อัป ปัจจุบัน ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในสภาวะที่เปลี่ยนไป ผลกระทบเศรษฐกิจ สงคราม ค่าครองชีพ จากแหล่งพลังงานที่แพงขึ้น เงินเฟ้อเกิดขึ้นทั่วโลกระบบการลงทุนก็เปลี่ยนไปสตาร์ตอัปก็จะได้ รับ fundingที่มีความซับซ้อนและ ยากมากขึ้น

“แต่สุดท้าย เราต้องเดินไปข้างหน้าการมุ่งเน้นในเรื่องของสตาร์ตอัป จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปในส่วนที่สร้างแวลูการเดินไปข้างหน้าของสตาร์ตอัปยังมีโอกาสอีกมากที่จะไปแก้ปัญหาในแต่ละยุค ที่จะไปตอบโจทย์แต่ละห้วงเวลาในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป”