ดีป้าเอ็มโอยูม.เกษตรศาสตร์เร่งฝึกสกิล "โลว์โค้ด"ป้อนอุตฯ
ดีป้า ผนึก ทีบีเอ็น ม.เกษตรศาสตร์ สร้างกำลังคนดิจิทัลด้านโค้ดดิ้งขั้นพื้นฐานตอบโจทย์ความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าสร้างกำลังคนดิจิทัลภายในปีแรกมากกว่า 100 คน ประเมินช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวภายหลังร่วมลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลและพัฒนาทักษะสู่ยุคดิจิทัล ร่วมกับบริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในการช่วยยกระดับกำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ด้าน Low Code ผ่านหลักสูตรและรับประกาศนียบัตรสากลของ Mendix Academy ก่อนผลักดันให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ
โดยนำร่องด้วยการพัฒนาบุคลากร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะวิทยาเขตศรีราชา ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายในการสร้าง Digital Workforce เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศดิจิทัลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภายในปีแรกตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรดิจิทัลผ่านโปรแกรม Train the Trainer มากกว่า 100 คน
และคาดว่าจะเพิ่มสู่ระดับพันคนภายในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้การทำดิจิทัล ทรานฟอร์มในองค์กรเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ บริการแพลตฟอร์มโค้ดดิ้งทั้ง Low Code / No Code ในชื่อ Mendix รายแรกที่มีประสบการณ์มากที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลที่เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศที่จะขับเคลื่อนองค์กรและประเทศรองรับการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ช่วยให้การทำดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น ในองค์กรธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดย Mendix ถือเป็นแพลตฟอร์ม Low Code / No Code ชั้นนำของโลกในปัจจุบันและเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างกำลังคนดิจิทัลของประเทศ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนพัฒนาทักษะเข้าสู่กระบวนการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ทันที
สำหรับการเอ็มโอยูที่นำร่องกับมหาวิทยาลัย ก็เพื่อพัฒนาบุคลากรและกำลังคนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อรองกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในหลากหลายมิติ ขณะเดียวกันการเขียนโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันผ่านแพลตฟอร์ม Low Code / No Code นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จะช่วยให้กำลังคนดิจิทัลสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานจำเพาะของตนเองหรือองค์กร ลดความซับซ้อนในการเขียนโปรแกรม และใช้เป็นเครื่องมือในการดิจิทัลให้กับองค์กร ส่งผลให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ