‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’  ดึง ‘เอไอ’  ปั้น ‘Amity’ ท้าชิง ‘เทคคอมพานีโลก’   

‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’  ดึง ‘เอไอ’  ปั้น ‘Amity’ ท้าชิง ‘เทคคอมพานีโลก’   

รายการ SUITS Sustainability ถอดสูตรความสำเร็จซีอีโอ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์' ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Amity เทคคอมพานี สัญชาติไทยที่ไปโลดแล่นในตลาดต่างประเทศ ด้วยอัตราการเติบโตมากกว่า 1000% 

รายการ SUITS Sustainability ถอดสูตรความสำเร็จซีอีโอ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์' ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Amity เทคคอมพานี สัญชาติไทยที่ไปโลดแล่นในตลาดต่างประเทศ ด้วยอัตราการเติบโตมากกว่า 1000% บริการโซเชียล คลาวด์ และบริการ SaaS หรือ Software as a service คือ โปรดักส์เรือธงที่ดึงพลานุภาพของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งไม่ลืมปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืนในแบบฉบับเทคคอมพานีรักษ์โลก

"Amity ได้ certified เป็น carbon neutral หรือมีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้เทคคอมพานี เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเยอะมาก มี emission เซิร์ฟเวอร์ที่เราใช้กินไฟมหาศาล การทำให้เซิร์ฟเวอร์มีความเย็น ต้องใช้พลังงานเยอะมากๆ Amity เราลงทุนและให้ความสำคัญเรื่อง carbon neutral  เรามีระบบที่จะดูได้ว่าเราปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ แล้วเราก็ไป offset ด้วยการซื้อเครดิตคาร์บอน" 

“กรวัฒน์” เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังถึงการช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในฐานะที่เป็นบริษัทเทคคอมพานี ธุรกิจที่ต้องมีความตื่นตัว และเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลก

‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’  ดึง ‘เอไอ’  ปั้น ‘Amity’ ท้าชิง ‘เทคคอมพานีโลก’   

Amity คือ เทคคอมพานีด้านโซเชียล คลาวด์ และผู้ให้บริการ SaaS ที่น่าจับตา บริษัทเกิดในประเทศไทยแต่ไปโดดเด่นในตลาดต่างประเทศช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตมากกว่า 1000% วันนี้ Amity หันมาโฟกัสในตลาดในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น  พร้อมดึงเอไอเข้ามาเป็นอาวุธสำคัญ

ปัจจุบัน Amity ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาอีกบริษัทชื่อว่า Amity Solutions (แอมิตี โซลูชันส์) เน้นทำตลาดในไทยและอาเซียน วางเป้าไว้ว่าจะดันบริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไทย (IPO) ในปี 2567 เพื่อนำเงินที่ได้ไปเร่งการลงทุนในเอไอ ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT (Generative Pre-training Transformer) นำมารวมเข้ากับบริการและโซลูชันต่างๆ ของ Amity ที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน

“การแยกหน่วยธุรกิจออกมาในครั้งนี้ ทำให้โครงสร้างของ Amity ในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็นสองบริษัทที่แยกตลาดกันอย่างชัดเจน แต่ก็มีการเป็นพาร์ทเนอร์กัน และเชื่อมโยงด้วย โฮลดิ้ง คอมพานี ที่เข้ามาถือหุ้นของทั้งสองบริษัทไว้”

‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’  ดึง ‘เอไอ’  ปั้น ‘Amity’ ท้าชิง ‘เทคคอมพานีโลก’   

 

ที่มาของ Amity ‘กลยุทธ์และเป้าหมาย’

กรวัฒน์ ย้อนเล่าถึงที่มาของชื่อบริษัท Amity ว่า "Amity แปลว่า Friendship ซึ่งเรามี Core Philosophy ที่ต้อง treat พนักงาน และพาร์ทเนอร์ ลูกค้าของเรา เหมือนอย่างที่เราจะ treat เพื่อนที่ดี" 

ส่วนเหตุผลที่ Amity เลือกไปเปิดตลาดที่ต่างประเทศก่อน หันมาโฟกัสในตลาดไทย เพราะธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือใน Software as a service (SaaS)  ถ้าอยากจะชนะต้องไปลุยระดับโกลบอลก่อน สร้างสิ่งที่เป็นระดับโลก Amity เลยมุ่งไปที่ยุโรป แม้จะอยากไปเจาะตลาดที่จีนก่อนซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ และน่าสนใจมาก แต่ก็เจาะได้ยากมาก จึงมุ่งไปยุโรป แล้วหลังจากนั้นก็เข้าไปตีตลาดที่อเมริกา 

“ปัจจุบันในไทย ออฟฟิศที่กรุงเทพฯ จะเป็นที่ทำอาร์แอนด์ดีเป็นหลัก เรามีออฟฟิศที่มิลาน (อิตาลี) ลอนดอน และอเมริกา ซึ่ง 90% ของ growth มาจากที่อเมริกา ยุโรป เรามีลูกค้าอย่าง ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ลูกค้าที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่บริษัท Pernod Ricard รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในฝรั่งเศส Amity เปิดตัวโปรดักส์ในตลาดระดับโลกมาประมาณ 2 ปี และก็เริ่มได้ลูกค้าเข้ามาในปี 2022 เรามี active user ที่ใช้บริการเราทั้งในอเมริกา ยุโรป ประมาณ 30,000 ยูสเซอร์ พอปลายปี 2022 เรามีลูกค้าเพิ่มเป็น 670,000 ยูสเซอร์ และเมื่อเดือนที่ผ่านมาเรามีลูกค้าเพิ่มเป็น 1.1 ล้านยูสเซอร์"

ในต่างประเทศ Amity จะบุกตลาดด้วย Amity Social Cloud หรือ ASC และตั้งเป้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เป็นผลิตภัณฑ์ด้าน ดิจิทัล คอมมูนิตี้ และโซเชียลฟีเจอร์ในแอปสามารถ plug-in กับแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ใดก็ได้

Amity ยังเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ของไทยที่เจาะตลาดและสร้างฐานลูกค้าในอเมริกาและในยุโรปได้ ทั้งยังเป็นผู้นำในตลาด SaaS ด้านโซเชียลฟีเจอร์ จากการเป็น First mover ในเซ็กเมนต์นี้

"บริการของ Amity ไปเจาะได้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โปรดักส์ของเราก็เป็นเหมือนกับ โมดูล เวลาใครจะสร้างแอป ก็เอาโมดูลของเราเข้าไปเสียบ ก็จะได้โซเชียล เน็ตเวิร์คภายในของบริษัทเขาขึ้นมา ยกตัวอย่าง ฮาร์เลย์ เดวิดสัน โกลบอล ซื้อบริการของเราไปทำคอมมูนิตี้ สำหรับลูกค้าเขาที่รักมอเตอร์ไซด์ เข้ามาคุยกันในแอปได้ มาแชร์ประสบการณ์ หรืออย่างโรงพยาบาลในอเมริกา เขาใช้เราทำเป็นคอมมูนิตี้ให้คนไข้ของเขาสามารถคุยกันได้ เป็นโซเชียล เน็ตเวิร์คภายในของเขา"

กรวัฒน์ บอกว่า Amity เป็นบริษัทที่เกิดจากเมืองไทยก็จริง แต่มีทีมที่อินเตอร์มากๆ แม้แต่ในออฟฟิศที่ไทยก็มีทีมงานที่อินเตอร์มีความเป็นนานาชาติ 

"ถ้าเราจะเป็นโกลบอล บิสิเนส เราต้องไปตีตลาดอื่นได้ เราต้องมีคนที่เข้าใจในตลาดนั้นมาช่วยกัน เราจึงมีทีมงานในหลายสัญชาติ ขณะที่ Amity เองก็มีนโยบายที่จะส่งพนักงานของทีมไทย ไปต่างประเทศด้วยเหมือนกัน ออฟฟิศที่มิลาน หรือลอนดอน เราก็มีทีมไทยอยู่ที่นั่นด้วย”

อนาคตของ SaaS 

กรวัฒน์ บอกด้วยว่า SaaS ถือเป็นธุรกิจแบบใหม่ที่มาแรงและเป็นอนาคต เป็นการให้บริการซอฟต์แวร์ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อได้เลยจากคลาวด์ ไม่จำเป็นต้องอิมพลีเมนต์ หรือมีซิสเต็มอินทริเกรเตอร์มาช่วยคัสตอมไมซ์ ซึ่ง SaaS นับว่ามีความสำคัญและมีมูลค่าตลาดที่สูงมาก

“SaaS ถ้าเราชนะเขาได้ในเมืองไทย มันก็ไม่ต่างกับการที่เราไปชนะที่อเมริกา เหมือนกับว่าวันนี้อเมริกามาที่นี่เขาก็ยกซอฟต์แวร์เดียวกันมา ถ้าเราชนะเขาในเมืองไทยได้ ก็แปลว่า เรายกซอฟต์แวร์แบบเดียวกันไปอเมริกาได้เหมือนกัน การจะเกิด SaaS ในเมืองไทยก็เลยไม่ง่าย เพราะต้องใช้ resource เยอะมาก”

ปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจด้านเทค มักจะเน้น consumer oriented ค่อนข้าง localize ไม่ได้เน้นกลยุทธ์ที่จะไปตีตลาดต่างประเทศ เพราะไม่ง่าย ธุรกิจที่เกี่ยวกับ consumer tech มีความยากในการสร้างกำไรและสร้างรายได้ในระยะยาว

"แต่ SaaS กับเทค คอมพานีที่เน้นบีทูบี ไม่เหมือนกัน เพราะสามารถทำกำไรได้แต่แรกเลย สามารถสร้างรายได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ ผมอยากให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา encourage ให้ผู้ประกอบการอย่าโฟกัสธุรกิจที่แค่ sexy แต่ธุรกิจบีทูบี หรือ SaaS ถ้าเกิดได้ตลาดจะไปไกลในระดับ regional และ โกลบอล ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่เราจะทำให้ ecosystem ของประเทศไทยเราแข่งขันได้ ถ้าเทียบกับ regional hub อย่างสิงคโปร์

เลือกธุรกิจที่ทำแล้วได้มาร์จิ้นสูง 

เมื่อถามถึง สูตรของ Amity ในเรื่องของความ sustain การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน สามารถยืนบริษัทอยู่ได้ระยะยาว ให้บริการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 

กรวัฒน์ บอกว่า “ในความคิดของผม ในกลุ่มเทคอินดัสทรี ซึ่งมีธุรกิจหลายๆ แบบแล้วมักเน้นใช้เงินเยอะมาก เผาเงินเยอะ เพื่อซื้อลูกค้าเข้ามา แบบนี้ผมมองว่าไม่ sustainable ถ้าธุรกิจไม่เวิร์ค แล้วเราต้องมา subsidize เพื่อให้ธุรกิจโต แล้วมาขาดทุน ผมว่า บริษัทยั่งยืนยาก”

"ในส่วนของ Amity เราทำ software as a service ธุรกิจนี้มาร์จิ้นสูง ผลกำไรเราสูง ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ retention ก็ดี แปลว่าลูกค้าซื้อเราแล้ว เขาอยู่ยาว และเขาก็จ่ายเราได้เรื่อยๆ เราก็โต เขาก็โตไปกับเราเรื่อยๆ ปัจจุบันลูกค้าของเราไตรมาสต่อไตรมาส เฉลี่ยแล้วยอดขายที่เขาจ่ายเราเพิ่ม 20% ทุกไตรมาส เพราะเขาชอบบริการเขาก็ซื้อเพิ่ม"

ปัจจุบัน Amity หันมาโฟกัสในตลาดประเทศไทย และในอาเซียนอย่างจริงจัง ซึ่งธุรกิจของ Amity ในต่างประเทศ และในไทยจะมีความต่างกัน ในไทยโปรดักส์จะเป็นเรื่อง เอไอ และออโตเมชั่นเป็นหลัก

ชี้แชตจีพีที ตัวพลิกเกม-รุกเจาะเอสเอ็มอี

กรวัฒน์ มองว่า แชทจีพีที คือ การทรานส์ฟอร์เมชั่นของอินดัสทรีที่สำคัญ โดยเฉพาะ Amity ที่ทำแชตบ็อต หรือเรียกว่า เวิร์คโฟลว์ ออโตเมชั่น เป็นระบบที่วิ่งอยู่ด้านหลังช่วยบริษัท operation ซึ่ง Amity ถือเป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้าที่เป็นเอ็นเตอร์ไพร์ส ในประเทศไทย มียูสเซอร์ 20 ล้านยูสเซอร์ ที่ใช้บริการทุกเดือน แต่อาจไม่ค่อยมีใครรู้ เพราะบริการของ Amity ถือเป็นอินฟราสตรัคเจอร์

กรวัฒน์ ขยายความต่อว่า การมาของแชตจีพีที คือ การทรานฟอร์เมชั่นของธุรกิจในฝั่งแชตบอตทั้งหมด เพราะจีพีที แพลตฟอร์ม คือ การก้าวกระโดดอย่างมหาศาลของคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถตอบโต้กับเราได้ ซึ่ง Amity ก็เป็นหนึ่งใน First Mover ที่จะรีบเอา จีพีที เทคโนโลยีมา develop on top  ทำให้เกิดแชตบอตใหม่มาแบบก้าวกระโดด

"จริงๆ แล้ว เรายังมีบริษัทอีกเยอะมากที่ Amity ยังไม่ได้เจาะเข้าไป หลักๆ เรามีลูกค้าเอ็นเตอร์ไพร์สมากกว่า 50 บริษัท แต่เรายังไม่ได้เจาะไปยังเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องไปเวิร์คต่อ เราต้องหาวิธีที่ให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้เอไอได้จริงๆ ถือเป็นเป้าหมายของเรา จะทำอย่างไรให้ เอไอ มีการเข้าถึงที่ง่าย ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ที่เข้าถึงได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ก็ต้องสามารถเข้ามาใช้เอไอได้ คนที่อาจไม่ได้มีความรู้เชิงเทคนิคมากต้องเอาเอไอเข้ามาช่วยใช้ทำงานได้”

ไม่เคยยอมแพ้ ล้มแล้วต้องลุก

ในฐานะที่เป็นทายาทของเจ้าสัวซีพี หลานปู่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” และลูกพ่อ “ศุภชัย เจียรวนนท์”  กรวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า คำแนะนำที่เขาได้รับมาตลอด คือ อย่าท้อ เมื่อแพ้ก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อ 

"สิ่งที่คุณปู่ และคุณพ่อแนะนำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การไม่ท้อ เพราะมีหลายจุดที่ผมเองยอมแพ้ แต่สุดท้ายเราก็ได้คิด ได้ฟัง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณพ่อ คุณปู่ได้พูดไว้ได้มีประสบการณ์ไว้ ซึ่งประสบการณ์ของท่านทั้งสอง ก็จะเห็นตลอดเลยว่าไม่เคยยอมแพ้ แพ้ก็ลุกขึ้นมาต้องสู้ต่อ"