‘เอไอ’ ยกระดับธุรกิจ สร้าง ‘ผลลัพธ์’ อย่างเป็นรูปธรรม
เอไอเข้ามาช่วยสร้างแต้มต่อที่สำคัญให้กับธุรกิจในหลากหลายมิติ หากองค์กรมีความคิดที่จะนำไปใช้ยกระดับการบริหารจัดการ อาจเริ่มจากการลองนำไปใช้แก้ไขปัญหาในจุดเล็กๆ ที่ซ้ำเดิมในองค์กรก่อน แล้วจึงค่อยขยายขอบเขตการใช้งาน
ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา จนกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและเป็นส่วนสำคัญให้กับภาคธุรกิจ
ในการนำมาช่วยพัฒนา เพิ่มศักยภาพในการทำงาน ลดเวลาและการทำงานที่ซ้ำๆ รวมถึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับหลายองค์กร
แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า มีบริษัทบางส่วนที่พยายามนำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้แล้ว แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพหรือสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กรได้ไม่เท่าที่ตั้งเป้าไว้
สำหรับเหตุผล อาจเกิดจากการที่องค์กรเหล่านั้นยังไม่ทราบถึงขอบเขตและความสามารถของเอไอ รวมถึงไม่ได้ตั้งโจทย์หรือกำหนดปัญหาทางธุรกิจที่จะใช้เอไอในการช่วยแก้ไขอย่างชัดเจน
ในบทความนี้ผมจึงอยากพูดถึงประโยชน์ของเอไอในภาพกว้างที่บริษัทส่วนใหญ่สามารถนำเอาไปใช้ได้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับธุรกิจที่กำลังพิจารณานำเอไอไปใช้งานได้อย่างตรงจุด
ความสามารถหลักของเอไอที่จะช่วยส่งเสริมการจัดการธุรกิจประกอบด้วย 1. การวิเคราะห์ข้อมูลและช่วยตัดสินใจ ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ที่จะมีการแสดงผลการวิเคราะห์ในรูปแบบสถิติง่ายต่อการเข้าใจหรือตัดสินใจในเชิงธุรกิจ การวิเคราะห์เชิงวินิจฉัย
เป็นการวิเคราะห์ที่อธิบายสาเหตุ ปัจจัย หรือตัวแปรด้านความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ เช่น กิจกรรมทางการตลาดและยอดขายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมการตัดสินใจให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมที่สุด การวิเคราะห์แบบพยากรณ์ เป็นการวิเคราะห์แบบหาแนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น จากข้อมูลในอดีต
เช่น การพยากรณ์ยอดขายที่จะเกิดขึ้นจากการเทียบกับยอดขายในอดีตในช่วงเวลาเดียวกัน และการวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำ เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยการระบุข้อดี ข้อเสีย ผลลัพธ์ สาเหตุของสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการให้คำแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อเกิดการตัดสินใจที่แม่นยำ
2. การทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ที่เอไอสามารถทำให้เครื่องจักรเรียนรู้และจดจำวิธีการทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเหมาะกับการใช้ควบคุมงาน ด้วยการกำหนดคำสั่งงานที่เป็นงานจำเจหรือซ้ำรูปแบบเดิม จึงเหมาะกับการทำระบบแชทบอทอัตโนมัติ ระบบจัดการในโรงงาน หรือการทำการตลาดแบบอัตโนมัติ
โดยช่วยส่งอีเมล ลงคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดีย หรือทำโฆษณาให้ตอบโจทย์ความสนใจของลูกค้า ช่วยทำให้การทำงานรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เอไอสามารถช่วยส่งเสริมด้านงานวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการ ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลที่ซับซ้อน ทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการตามความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี
เอไอจะช่วยปรับกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบเฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้าอย่างเหมาะสม และให้บริการที่ตอบโจทย์เหนือระดับมากยิ่งขึ้น
4. การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล เอไอมีบทบาทสำคัญกับองค์กรในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรหาบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ตามจำนวนที่เหมาะสมกับกลยุทธ์องค์กร
ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองผู้สมัครที่มีจำนวนมาก เปรียบเทียบคุณสมบัติที่ต้องการ และตามหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยปราศจากอคติทางความรู้สึก เพื่อดำเนินการในขั้นตอนถัดไปอย่างการช่วยนัดสัมภาษณ์ และการทำแบบทดสอบ ที่ช่วยลดงานให้กับเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เอไอยังช่วยในการประเมินความสามารถของพนักงาน จัดคอร์สอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงานรายบุคคลที่แตกต่างกัน รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้มการลาออกที่อาจเกิดขึ้นของพนักงาน เพื่อทำการเข้าถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน และช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรได้อย่างเหมาะสม
จะเห็นได้ว่าเอไอได้เข้ามาช่วยสร้างแต้มต่อที่สำคัญให้กับธุรกิจในหลากหลายมิติ ทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงาน การช่วยวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลขององค์กร เพื่อพัฒนาปรับปรุงสินค้าและต่อยอดบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
หากองค์กรมีความคิดที่จะนำเอไอไปใช้ยกระดับการบริหารจัดการ อาจเริ่มจากการลองนำเอไอไปใช้แก้ไขปัญหาในจุดเล็กๆ ที่ซ้ำเดิมในองค์กรก่อน แล้วจึงขยายขอบเขตการใช้งาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรสามารถปรับตัวและใช้งานเอไอได้อย่างไร้รอยต่อ จนเห็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง