สดช. เร่งเสริม 'เอไอ' ด้านอาร์แอนด์ดี-ดันคลาวด์เฟริส์ขยับอันดับดิจิทัลต่อ
หลัง IMD เผยผลการจัดอันดับด้านดิจิทัลของไทย ดีขึ้นจากเดิม 5 อันดับ พร้อมสานต่อนโยบายและโครงการด้านดิจิทัล ชี้ขีดความสามารถการแข่งขันไทยเป็นความท้าทายที่น่าจับตา
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวว่า หลังจากที่ World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD เปิดเผยรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจที่มีการเข้าร่วมการจัดอันดับ ประจำปี 2566
โดยภาพรวมไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 35 ซึ่งดีขึ้น 5 อันดับ จากปี 2565 สำหรับผลการจัดอันดับด้านดิจิทัลของไทยในปัจจัยหลัก 3 ด้าน พบว่า ผลการจัดอันดับในปีนี้ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้นทั้ง 3 ด้าน
ได้แก่ ด้านความรู้ดีขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 41 ในขณะที่ด้านเทคโนโลยีดีขึ้น 5 อันดับ จากอันดับ 20 มาอยู่ในอันดับ ที่ 15 และด้านความพร้อมสำหรับอนาคตดีขึ้นถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 42
ในส่วนปัจจัยย่อยของด้านความรู้มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพดีขึ้น 2 อันดับ และการฝึกอบรมและการศึกษา ดีขึ้น 5 อันดับ ซึ่ง สดช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลมาโดยตลอด โดยได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตัวชี้วัดนี้ ผ่านโครงการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) และการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านดิจิทัล สร้างความรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 2,222 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับด้านเทคโนโลยี ปัจจัยย่อยโครงสร้างกฎระเบียบดีขึ้น 3 อันดับ (อันดับที่ 31) เงินทุนดีขึ้น 8 อันดับ (อันดับที่ 12) และโครงสร้างเทคโนโลยีดีขึ้น 3 อันดับ (อันดับที่ 15) เป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ
ทั้งในส่วนการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสงจากโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ไปยังพื้นที่ห่างไกล ภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ ที่ปัจจุบันครอบคลุม 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศแล้ว และการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจากผู้ให้บริการโครงข่าย 5G ของประเทศไทย โดยปัจจุบันสัญญาณ 5G ของประเทศไทยครอบคลุม 77 จังหวัด
รวมทั้งโครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ที่เชื่อมโยงและทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้รวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การบูรณาการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม และด้านเมืองอัจฉริยะ
ทั้งนี้ ในด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ปัจจัยย่อยที่มีการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยย่อยเรื่องทัศนคติที่ยืดหยุ่นที่มีอันดับดีขึ้นถึง 10 อันดับ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของประเทศในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และพัฒนาการของคนไทยที่เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยย่อยเรื่องความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจดีขึ้น 7 อันดับ (อันดับที่ 34) แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของภาคธุรกิจที่มีการปรับตัวให้พร้อมเข้าสู่การแข่งขันภายใต้โลกยุคดิจิทัล
การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นับเป็นความท้าทายในระยะยาว ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน
ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีด้านเอไอส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ด้วยนโยบาย Go Cloud First สำหรับหน่วยงานภาครัฐ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ จะช่วยปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ประชาชน สามารถได้รับการบริการจากรัฐ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของภาครัฐ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ของประเทศพัฒนาขึ้นได้อีกมาก