‘ทรู’ผสาน‘เนคเทค’แนะทางรอดอุตฯ 4.0 จะอยู่รอดต้องตื่นตัวรับมือภัยไซเบอร์
เผยปี 2023 ประเทศไทยยังติดอันดับท็อปเท็นของประเทศที่เป็นเป้าหมายการโจมตีไซเบอร์ เผยตัวเลขโรงงานในไทย 96% จาก 70,000 โรงงานเป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจจับหรือป้องกันการโจมตีได้
KEY
POINTS
- ปี 2023 ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่เป็นเป้าหมายการโจมตี
- 88% ของโรงงานอุตสาหกรรมไทย ต้องเจอกับภัยคุกคามอย่างน้อย 1 ครั้ง
- ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกเกิดขึ้นทุกๆ 39 วินาที ใช้ความสามารถของ AI มาช่วยแฮกระบบ
ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่องค์กรควรให้ความสำคัญและไม่ควรมองข้าม เพราะในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้าถึงได้ง่าย หลายๆองค์กรถูกโจมตีไซเบอร์เพื่อขโมยข้อมูล ทำให้เกิดความเสียหายและธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญ รวมถึงไม่มีศักยภาพในการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้
ซึ่ง ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เห็นถึงปัญหาและต้องการสร้างการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่องค์กรภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกับ เนคเทค สวทช. โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน จัดงานสัมมนา “Cyber Security for Industry 4.0 : ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พื้นฐานสำคัญสู่อุตสาหกรรม 4.0” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้รู้เท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ นำเสนอโซลูชันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้ทดลองใช้งานจริง ให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการดูแลและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ทางรอดขององค์กรในยุคดิจิทัล
พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า ตัวเลขการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนเป้าหมายไปเรื่อยๆ เห็นได้จาก ปี 2021 ภัยคุกคามไซเบอร์มุ่งโจมตีมายังภาคอุตสาหกรรม (ข้อมูลจาก IBM, 2021) โดยในปี 2023 ประเทศไทยยังติดอันดับท็อปเท็นของประเทศที่เป็นเป้าหมายการโจมตี ทั้งนี้ โรงงานในไทย 96% จาก 70,000 โรงงานเป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจจับหรือป้องกันการโจมตีได้
นอกจากนี้ ผลการสำรวจในปีที่ผ่านมามากกว่า 88% ของโรงงานอุตสาหกรรมไทย ต้องเจอกับภัยคุกคามอย่างน้อย 1 ครั้ง และ 89% ของโรงงานที่ถูกโจมตี ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามากกว่า 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น จนถึงสัปดาห์ (ข้อมูลจาก Fortinet Thailand, 2022) โรงงานอุตสาหกรรมจึงควรมีการเตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
Open-source SOC-as-a-service โซลูชันที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ในราคาที่เข้าถึงได้
จากเหตุการณ์ถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตชิ้นส่วน ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้โตโยต้าต้องประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ชั่วคราว เกิดความเสียหายกับระบบการผลิตทั้งหมด ถือเป็นแรงบันดาลใจให้จัดทำโครงการ Open-source SOC-as-a-service for small and medium manufacturers เพื่อหาตัวช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก The Information Society Innovation Fund (ISIF Asia) ทำการศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม Open-Source Software สำหรับศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ (SOC) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ดำเนินงานแบบไม่มีค่าลิขสิทธิ์ส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง ในราคาที่เข้าถึงได้ ทั้งยังได้นำไปทดสอบการใช้งานจริงในโรงงานขนาดใหญ่และเล็ก ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี
ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องพร้อมทั้งเทคโนโลยีควบคู่กับความปลอดภัยด้วย
โรงงานอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ ผสานกับการทำงานในกระบวนการผลิต เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 พนิตา กล่าวเพิ่มเติมว่า การทรานสฟอร์มของโรงงาน สู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น สามารถวัดความพร้อมของโรงงานในมิติต่างๆ ได้ ว่าอยู่ในอุตสาหกรรมระดับใด ด้วยดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย (Thailand i4.0 Index) ซึ่งจะช่วยให้โรงงานทราบว่าควรปรับปรุงหรือเพิ่มเติมในด้านใดบ้าง โดยความพร้อมด้านเทคโนโลยี จำเป็นต้องทำควบคู่กับความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย ถึงจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ
เทคโนโลยี AI ตัวช่วยจัดการภัยคุกคามได้รวดเร็วและทันท่วงที
ฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ สนับสนุนการทรานสฟอร์มธุรกิจ พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ได้อย่างคุ้มค่าและเท่าเทียมกัน โดยสร้างสรรค์และพัฒนาโซลูชันด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรทุก ขนาดทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ให้เข้าถึงได้ ใช้งานง่าย คุ้มค่า และปลอดภัยขั้นสูง
ซึ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกเกิดขึ้นทุกๆ 39 วินาที ผู้โจมตีใช้ความสามารถของ AI มาช่วยหาช่องโหว่เพื่อโจมตีองค์กรมากยิ่งขึ้น ทำให้ใช้เวลาในการโจมตีตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดเพียง 84 นาที ในขณะที่องค์กรใช้เวลาเฉลี่ยถึง 277 วัน ในการตรวจจับภัยคุกคามและแก้ไขปัญหา ดังนั้น องค์กรจึงควรนำ AI มาใช้เพื่อป้องกันตัวเองให้จัดการภัยคุกคามได้ทันท่วงที โดยเทคนิคการโจมตีในไทย 50% มาจากแรนซัมแวร์หรือการเรียกค่าไถ่ รองลงมาเป็นการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และการใช้อีเมลหลอกลวง
ดังนั้น ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ให้บริการศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ (SOC) ครอบคลุมครบวงจร เหนือกว่าด้วย Next Generation SOC ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI และ ML (Machine Learning) ช่วยจัดการภัยคุกคามแบบอัตโนมัติ มีผู้เชี่ยวชาญช่วยเฝ้าระวังภัยคุกคามตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและรับมือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ช่วยเติมเต็มความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แข็งแกร่งขึ้นลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น