ซีอีโอ เซอร์ทิส ผู้บุกเบิกธุรกิจ 'เอไอ - ดาต้า' ย้ำ 'เอไอ' ไม่แทนที่แรงงาน 'คน'
'ธัชกรณ์ วชิรมน' ผู้บุกเบิกธุรกิจ 'เอไอ - ดาต้า' ย้ำชัด 'เอไอ' ไม่แทนที่แรงงานมนุษย์ มองการพัฒนาเอไออีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีเอไอจะถูกพัฒนา และนำมาใช้มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่ในระดับองค์กรหรือธุรกิจ แต่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันทุกคน
KEY
POINTS
- พัฒนาเอไออีก 10 ปีข้างหน้า เอไอจะถูกพัฒนาและนำมาใช้มากขึ้น ไม่เพียงองค์กรหรือธุรกิจ แต่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันทุกคน
- เอไอ จะไม่เข้าไปแทนที่แรงงานมนุษย์ เพราะเอไอไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์หากปราศจากการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
- มนุษย์จึงต้องเรียนรู้ความสามารถของเอไอ เพื่อให้เราสามารถใช้และทำงานร่วมกับเอไอได้อย่างสร้างสรรค์
นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่องค์กรในประเทศไทยนำ “ดาต้า” และ “เอไอ” มาใช้ดำเนินธุรกิจ จากกระแสของคำว่า “บิ๊ก ดาต้า" (Big Data) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาท และเป็นที่รู้จักในปี 2016 ตามมาด้วยคำที่น่าสนใจใหม่ๆ
ไม่ว่าจะเป็น “ดาต้า ไซน์" (Data Science) “ดาต้า ทรานส์ฟอร์เมชั่น" (Data Transformation) “บล็อกเชน" หรือ มัลติเวิร์ส (Multiverse) จนเข้าสู่ยุคของคำว่า “เอไอ” อย่างเต็มตัวในปัจจุบัน
“เซอร์ทิส” คือ หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการดาต้า และเอไอโซลูชันสัญชาติไทย ทำธุรกิจก้าวผ่านทุกกระแสเปลี่ยนแปลง และวลีฮิตต่างๆ และยังคงยืนหยัด ปรับตัว ส่งมอบบริการให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมาเกือบหนึ่งทศวรรษ
“ธัชกรณ์ วชิรมน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เซอร์ทิส จำกัด เปรียบเทียบภูมิทัศน์ทางธุรกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับปัจจุบันว่า
“ช่วงนั้นคำว่า “เอไอ” ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน แรกเริ่มจะมีคำว่า “Big Data” ที่หมายถึง การทำงานร่วมกับข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่จะพอเป็นกระแสให้รู้จักในองค์กรขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันคำนี้ไม่ถูกนำมาพูดถึง เพราะการทำงานที่เกี่ยวกับข้อมูลล้วนมีข้อมูล Big Data เป็นองค์ประกอบพื้นฐานอยู่แล้ว”
มุมมองดังกล่าว ทำให้เขาตัดสินใจเริ่มธุรกิจตัวเองขึ้น เมื่อปี 2014 มีวิสัยทัศน์ช่วยพัฒนาศักยภาพให้องค์กรต่างๆ ในประเทศไทย และภูมิภาคใกล้เคียง
“บททดสอบของเซอร์ทิสช่วงแรกคือ สร้างความเข้าใจ และความไว้วางใจให้แก่ลูกค้า เราจึงพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนา และเรียนรู้ เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในฐานะของผู้นำด้านเทคโนโลยีดาต้า และเอไอ ผ่านการสร้างความสำเร็จจากการพัฒนาระบบข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ของเรา รวมถึงส่งมอบบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือผลลัพธ์ที่ลูกค้าสามารถจับต้องได้”
เซอร์ทิส มีประสบการณ์ทำงานหลายอุตสาหกรรม อาทิ ค้าปลีก การผลิต และการเงิน ที่ผ่านมาได้สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อจัดระเบียบข้อมูลจำนวนมหาศาลให้องค์กร ใช้เครื่องมือ เช่น Generative AI ช่วยให้บริการลูกค้า และการสร้างโซลูชันเอไอมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการพัฒนาธุรกิจอย่างแม่นยำ และตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ
พัฒนาการเอไอ 10 ปีข้างหน้า
ธัชกรณ์ มองการพัฒนาเอไออีก 10 ปีข้างหน้าว่า เทคโนโลยีเอไอจะถูกพัฒนา และนำมาใช้มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่ในระดับองค์กรหรือธุรกิจ แต่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันทุกคน อย่างที่ได้รู้จัก Generative AI หรือการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อเป็นเครื่องมือเชื่อมโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) พาวิถีชีวิตให้เกี่ยวโยงเข้าไปในโลกออนไลน์มากขึ้น จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจต่างๆ ให้เติบโต
"ในมุมมองของเซอร์ทิสในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม และการทำงานเบื้องหลังของเอไอ เราคิดว่างานด้านพัฒนาเอไอให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยในแง่ต่างๆ อาทิ ภาษา วัฒนธรรม และภูมิทัศน์ทางธุรกิจของประเทศไทย จะเข้ามามากขึ้นอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม เขายังได้ให้แนวคิดการพัฒนาร่วมกันระหว่างเอไอ และมนุษย์ว่า เทคโนโลยีเอไอ จะไม่เข้าไปแทนที่แรงงานมนุษย์ เพราะเอไอยังไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากปราศจากการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
"หากสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องทำต่อจากนี้เพื่อไม่ให้ถูกแย่งงาน จึงเป็นการเรียนรู้ความสามารถของเอไอ เพื่อให้เราสามารถใช้ และทำงานร่วมกับเอไอได้อย่างสร้างสรรค์ ช่วยย่นระยะเวลาในการทำงาน และส่งเสริมงานของเราให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม” ธัชกรณ์ ทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์