สมดุลคน 2 วัย (2)
การเรียนรู้เพื่อลดจุดอ่อนตัวเองช่วยให้เปิดรับฟังผู้อื่นและมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น
ช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นในสังคมการทำงานทุกวันนี้ ด้วยวิถีชีวิตและแนวคิดที่แตกต่างกันของคนแต่ละเจนเนอเรชันทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในที่ทำงานอยู่เสมอ
โดยเฉพาะผู้บริหารและเจ้าของกิจการที่เป็นคนในยุค Baby boomers หรือไม่ก็ Gen X ที่มักจะไม่ลงรอยกับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ Gen Y ลงไป
วัฒนธรรมองค์กรที่ดีจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลของคน 2 วัยดังกล่าวให้ผสมกลมกลืนและเกิดทัศนคติเชิงบวกขึ้นภายในองค์กร และต้องมีช่องว่างให้แต่ละคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองเพื่อกระตุ้นให้เขาได้ใช้กล้าคิดและกล้าลองทำสิ่งใหม่ที่ท้าทายอนาคตและความสำเร็จ
นอกเหนือจากนั้น คนทุกยุคก็ต้องยอมรับในการปรับตัวเข้าหากัน โดยมีจุดร่วมที่สำคัญ ข้อแรกคือ ต้องรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน นั่นหมายความว่าเราต้องรู้จักที่จะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง แล้วหาทางลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งเพื่อทำให้ตัวเองมีศักยภาพสูงขึ้น
การเรียนรู้เพื่อลดจุดอ่อนของตัวเองยังช่วยให้เราเปิดรับฟังผู้อื่นและมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น ยิ่งทำไปพร้อมการเสริมจุดแข็ง ก็จะยิ่งทำให้เรารู้จักคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง เกิดเป็นความยอมรับตัวเองและยอมรับผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
ข้อสอง ต้องมีเป้าหมาย และต้องมีความพยายามที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แม้จะถูกคนอื่นปรามาสและทำลายความมั่นใจด้วยวิธีต่างๆ ก็ต้องแปลงคำดูถูกนั้นให้เป็นพลังและพาให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายที่ต้องการให้ได้ในที่สุด
ข้อสาม ทำทุกอย่างตามธรรมชาติของตัวเรา อย่าไปทำตามสิ่งที่เป็นกระแสซึ่งไม่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเรา แม้ความเห็นเราจะแตกต่างจากคนอื่นแต่หากมั่นใจว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องก็ไม่ลังเลที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้
การทำงานเป็นทีมไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นด้วยกับความเห็นของผู้อื่นทั้งหมด เพราะบางครั้งเราอาจมีความเห็นที่ขัดกับบางคนในทีม ก็ต้องกล้านำเสนอให้ทุกคนได้มองเห็นความคิดที่แตกต่างเพราะนั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนของทีม และอาจเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้ทีมงานประสบความสำเร็จ
ข้อสี่ ต้องกล้าเผชิญกับความไม่รู้ และต้องก้าวข้ามความไม่รู้นั้นไห้ได้สำเร็จ เพราะความไม่รู้อาจทำให้เราหวาดกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงหรือลองทำสิ่งใหม่ๆ แต่หากเราเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนความไม่รู้ให้กลายเป็นความรู้ เราก็อาจเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว
ความไม่รู้จึงเป็นสิ่งที่เราสามารถแก้เป็นความรู้ได้ง่ายๆ ด้วยการยอมรับมันและเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ยิ่งเผชิญหน้ากับมันมากเข้า ก็ยิ่งทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้น และลดความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนที่ยืดหยุ่นและรับมือได้กับทุกสถานการณ์
ข้อห้า ต้องเคารพต่อหน้าที่ของตัวเอง โดยเฉพาะงานที่ได้รับมอบหมายไม่ว่าจะเป็นงานที่ชอบหรือไม่ก็ตามหากเรามีความสนใจใฝ่รู้ และกล้าทำลายความไม่รู้ของตัวเองตามข้อสาม เราก็ย่อมพยายามหาทางกำจัดความไม่รู้ดังกล่าวทำให้เราเข้าใจเนื้องานนั้นๆ และทำต่อไปได้ด้วยตัวเอง
เมื่อได้ลงมือทำแล้วเราก็สามารถใส่ความคิดของตัวเองเข้าไป ทำให้งานนั้นมีลักษณะเฉพาะที่เป็นผลงานของตัวเราเอง ยิ่งถ้าเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นก็จะยิ่งทำให้งานนั้นได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างได้ด้วย
สุดท้ายแล้วงานนั้นก็จะกลายเป็นงานที่เรามีความรู้และความเชี่ยวชาญเพราะเกิดจากการผสมผสานแนวทางการทำงานของตัวเองและเพื่อนร่วมงานลงไปจนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด ทำให้เรากล้าคิดกล้าลองทำงานแปลกๆ ใหม่ๆ เสมอในอนาคต
....ติดตามข้ออื่นๆในตอนต่อไปครับ