ดีอีหนุน 'เอ็นที' แบ่งเค้กมูลค่าตลาดคลาวด์ภาครัฐแสนล้านบาท
“ประเสริฐ” รับลูกครม.เร่งสปีดประชุมบอร์ด Cloud First Policy ต้นเดือนหน้า มองหน้าที่ช่วยกรอง-กำหนดราคากลางค่าเช่าคลาวด์ให้กับภาครัฐ คาดมูลค่าตลาดสูงทะลุแสนล้านอีก 5 ปี 'เอ็นที' พร้อมส่งโซลูชั่นขอแบ่งเค้ก เชื่อรายได้อนาคตสดใสเข้ามาชดเชยรายได้จากมือถือหดหายได้
หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) เข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามหมวด 5
ภายในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการเฉพาะด้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายการวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ประชาชนสามารถรับการบริการจากรัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (National Cloud) ต่อไป
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า บอร์ด Cloud First Policy จะเข้ามากำหนดราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างคลาวด์ สำรวจความต้องการใช้งานคลาวด์และการกำหนดราคากลาง
โดยแบ่งตามประเภทการใช้งานคลาวด์ 4 ประเภท ได้แก่
- 1.คลาวด์เพื่อความมั่นคงของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII)
- 2.คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลภาครัฐและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสร้างบริการต่อประชาชนได้
- 3.คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลแบบสตอเรจ
- 4. คลาวด์สำหรับข้อมูลที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง
โดยจะเป็นการต่อยอดยกระดับเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) ที่ให้บริการครบถ้วน สามารถส่งเสริมการทำงานของรัฐบาลดิจิทัลที่เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทั้งในด้านบริการโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) บริการแพลตฟอร์ม (PaaS) และ บริการซอฟต์แวร์ (SaaS) โดยเฉพาะล่าสุดการเปิดบริการ Market place แหล่งรวมบริการซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และแฟลตฟอร์มที่หลากหลายสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว ตลอดจนพัฒนาบริการและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมถึงต่อยอดการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพสอดคล้องกับ Cloud First เพื่อให้เป็นคลาวด์กลางภาครัฐที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ GDCC รัฐบาลได้ลงทุนเบื้องต้นไปแล้วประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีการลงทุนเพิ่มอีก 6,000 ล้านบาท
“ทั้งนี้นโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักจะช่วยเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ให้บริการคลาวด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อาลีบาบา , กูเกิล , เอดับบลิวเอส,ไมโครซอฟท์ และ หัวเว่ย เพราะที่ผ่านมาต้องรอให้เอ็นทีจัดหา GDCC เพียงอย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอ แต่เอ็นทีจะเป็นกำลังหลักในการทำคลาวด์ภาครัฐตรงนี้ เพราะเอ็นทีก็เคยทำ GDCC มาและเป็นหน่วยงานภายใต้ของดีอี”
โดยการทำงานบอร์ด Cloud First Policy จะเป็นการทำงานระบบงานขั้นสูง เพื่อบริการสำหรับการจัดเก็บข้อมูลสำคัญของหน่วยงาน, เพิ่มบริการจาก GDCC Marketplace พัฒนาการใช้งานในรูปแบบ Hybrid Cloud ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานจากเดิมที่บริการคลาวด์ออกเป็น 3 ระดับหลัก ๆ คือ คลาวด์ระดับกระทรวง หรือ Ministry Cloud คลาวด์ระดับกรม หรือ Agency Cloud คลาวด์กลางภาครัฐ ซึ่งหน้าที่ของบอร์ดนี้จะเป็นการบริหารจัดการระบบคลาวด์ พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลภาครัฐและจัดทำข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ของหน่วยงานที่ใช้บริการ GDCC รวมถึงส่งเสริมการใช้บริการให้กับหน่วยงานภาครัฐ
ด้านณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ประธานบอร์ดเอ็นที กล่าวเสริมว่า ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐมีดีมานด์มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในแง่ของเอ็นทีก็จะทำหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก บริหารจัดการความต้องการใช้คลาวด์ (Demand) บริหารจัดการให้มีบริการคลาวด์อย่างเพียงพอ (Supply)
โดยขณะนี้ เอ็นทีให้บริการ Convert บริการของ GDCC มาสู่ในหลายรูปแบบ สามารถปรับปรุงระบบนิเวศการใช้คลาวด์ และการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลผ่านความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน
“มีการประเมินจากหลายหน่วยงานคาดว่ามูลค่าตลาดคลาวด์ภาครัฐในอีก 5 ปีจะมีมูลค่ามากถึง 100,000 ล้านบาท ทางสภาพัฒน์ฯก็มองว่าความต้องการใช้งานของรัฐจะมีมากถึง 500,000 วีเอ็มด้วย ตรงนี้เอ็นทีขอให้เอ็นทีช่วยในการหาลูกค้าภาครัฐมาใช้งาน ถ้าได้ส่วนแบ่งตรงนี้ 30% ก็น่าจะเพียงพอแล้ว”
ด้านพ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า ระบบงาน Customer segment พร้อมเตรียมรองรับนโยบาย Go Cloud First นั้น เอ็นทีมีความพร้อมให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจัดหาทรัพยากรด้านการประมวลผล (Computing Resource) ให้กับภาครัฐในรูปแบบการให้บริการ Cloud Service รองรับหน่วยงานรัฐให้เข้าถึงทรัพยากรด้านคลาวด์ด้วยมาตรฐานสากล พร้อมกับนำเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยมาเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ
รวมถึงได้เพิ่มบริการ Market Place บน GDCC เพื่อรองรับการให้บริการแพลตฟอร์มไอที แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน NT Cloud Service ได้ให้บริการลูกค้าภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มากกว่า 1,700 ราย มี Workloads มากกว่า 5,000 workloads
โดยมองว่ารายได้จากคลาวด์อยู่ที่ 12% ของรายได้รวมซึ่งอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ดังนั้น หากรายได้จากคลาวด์ภาครัฐที่อยู่ 100,000 ล้านบาทใน 5 ปี เอ็นทีมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) อยู่ที่ 30% ก็น่าจะมีรายได้ปีละ 30,000 ล้านบาท หากต้นทุนอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ก็จะมีชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ โดยจะกำหนดราคาเป็น Pay per Use ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดลดการลงทุนซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ
"ในระบบคลาวด์ แมนเนจเมนต์ แพลตฟอร์มจะเป็นตัวกลางในการควบคุมค่าเช่า ค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆในการเทียบราคาคลาวด์ต่อวีเอ็ม ซึ่งการตั้งบอร์ด Cloud First Policy นั้น จะมาทำเกิดสมดุลค่าใช้จ่ายต้นทุนตรงนี้ของหน่วยงานภาครัฐ เอ็นทีมองว่าหากมีผู้ให้บริการคลาวด์จากต่างชาติเข้ามา ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งเรามองทุกคนเป็นพันธมิตรทั้งหมด"