รัฐบาลดิจิทัล (15) : “ป้าย”ต่อไป...รัฐบาลดิจิทัล

รัฐบาลดิจิทัล (15) : “ป้าย”ต่อไป...รัฐบาลดิจิทัล

บทความนี้ เป็นตอนสุดท้ายของชุด “รัฐบาลดิจิทัล: ความฝันหรือความหวัง” อะไรคือบทเรียน และสิ่งที่ควร “ทำต่อ” เพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลของเราให้เดินต่อไป

การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา  เป็นผลจากความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ สำนักงาน ก.พ.ร. ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ผลักดัน พ.ร.บ.วิ อิเล็กทรอนิกส์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน กรมการปกครอง ที่ยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของคนไทย กระทรวงและหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มุ่งมั่นยกระดับบริการให้แก่ประชาชน

การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล คือ “การเดินทาง” ไม่รู้จบ ตราบใดที่เทคโนโลยียังก้าวไปข้างหน้าและประชาชนมีความต้องการใหม่ ๆ การเดินทางไกลเช่นนี้ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนา “ขีดความสามารถ” ของภาครัฐให้รองรับการเปลี่ยนแปลงได้ “คน” ต้องเรียนไม่รู้จบ “กระบวนการ” ต้องกระชับ ตอบโจทย์ประชาชน  “เทคโนโลยี”  ต้องนำมาใช้อย่างเหมาะสม

รัฐบาลดิจิทัล (15) : “ป้าย”ต่อไป...รัฐบาลดิจิทัล

เราเริ่มเห็นผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดรัฐบาลดิจิทัล (EGDI) ของประเทศไทย ดีขึ้นเป็นลำดับ จากอันดับที่ 73 ในปี 2018 มาเป็นอันดับที่ 55 ในปี 2022 โดยประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบย่อย คือการให้บริการออนไลน์ของรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนากำลังคนของประเทศ ด้านที่มีคะแนนดีคือโครงสร้างพื้นฐาน

ด้านที่ต้องปรับปรุงมากคือการพัฒนากำลังคน ส่วนการให้บริการออนไลน์ภาครัฐแม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังต้องปรับปรุงอีกมาก จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดัชนี EGDI ดีกว่าอันดับที่ 40 ภายในปี 2027 

ประเทศเรามักจะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ “ชั่วคราว” (Work Around) โดยไม่ได้แก้ที่ “รากเหง้า” ของปัญหา ผลก็คือ ปัญหานั้นก็จะวกกลับมาให้ตามแก้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ดังเช่น การเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในอดีต แทนที่จะตั้งองค์กรกำกับดูแลเพื่อออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้ามาแข่งขันโดยเสรี แต่รัฐบาลเกรงว่าจะใช้เวลานาน จึงหาทางออกที่เร็วกว่าด้วยการออกสัมปทานให้เอกชนผูกขาดไปถึง 25-30 ปี แม้ต่อมาจะมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็ไม่สามารถเปิดเสรีได้ เพราะจะกระทบกับสัมปทานเดิมที่มีอยู่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แยกออกจากกัน ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีเริ่มหลอมรวมกันตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว  

การพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีการแข่งขันเสรี จึงล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มองการณ์ไกลด้วยการตั้ง MCMC ขึ้นเป็นองค์กรกำกับดูแลแบบหลอมรวมตั้งแต่เมื่อแรกก่อตั้งในปี 1998

หากจะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ ต้องแก้โจทย์ “ยาก” นั่นคือ แก้ที่ “สาเหตุ” ที่แท้จริงของปัญหา ไม่หวังทางลัดด้วยการทิ้งปัญหา “จริง” ไปแก้ปัญหาที่ “ง่ายกว่า” อีกต่อไป ประเทศผู้นำด้านรัฐบาลดิจิทัลอย่างเกาหลีใต้ก็ยังต้องใช้เวลา

ในกรณีของการบูรณาการข้อมูลสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาลท้องถิ่น แม้ว่าจะได้ออกมาตรฐานของข้อมูลแล้ว แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ยังไม่สามารถทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบเดียวกันได้ เพราะขาดบุคลากรที่มีความรู้ และหาบริษัทไอทีดำเนินการให้ไม่ได้ เพราะบริษัทไอทีของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงโซล 

ทางออกของรัฐบาลเกาหลีใต้คือ การตั้งโครงการบูรณาการข้อมูลจากท้องถิ่น ระยะ 5 ปี โดยใช้วิธีตั้งทีมเฉพาะกิจ จ้างพนักงานจากส่วนกลางไปประจำกับรัฐบาลท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อจัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกันให้สำเร็จ จะเห็นได้ว่า การแก้โจทย์ยาก ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เพียงชั่วข้ามคืน

หลายคนอาจจะ “ท้อ” ว่าทำในชั่วชีวิตเราคงไม่เสร็จ แต่อย่าลืมว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่อีกเพียงไม่กี่ปี แต่จะอยู่ไปอีกนานหลังเราเกษียณหรือหลังหมดรุ่นเราไปอีกหลายรุ่นต่อ ๆ ไป

รัฐบาลดิจิทัล (15) : “ป้าย”ต่อไป...รัฐบาลดิจิทัล

สิ่งที่คนรุ่นเราต้องทำคือการกำจัด “อุปสรรค” ที่ขัดขวางทางไปสู่ความสำเร็จ (Roadblock) ไปทีละอย่างสองอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยน “กรอบความคิด” (Mindset) กฎระเบียบ วิธีการทำงานหรือการวางรากฐานระบบงานใหม่ เช่น การสร้างแพล็ตฟอร์มความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เอกชน และภาคประชาสังคม ให้เกิดขึ้น

ถึงที่สุดแล้ว โลกนี้ ไม่มีอะไร “ฟรี” ทุกอย่างต้องมี “ต้นทุน” เสมอ ในการปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดก็คือ “หน่วยงาน” ที่ให้บริการแก่ประชาชนนั่นเอง เป็นธรรมดาที่ “คน” และ “งบประมาณ” ไม่เคยพอ ดังนั้น ต้อง “โฟกัส” เรื่องที่ส่งผลกระทบสูงก่อน แล้วทำให้สำเร็จไปทีละอย่าง จะได้ขยับไปทำเรื่องอื่นต่อไป

อย่าพายเรือวนอยู่ในอ่างกับปัญหาเดิม ๆ อย่าทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ และอย่าสร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมาให้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะทั้งหมดคือต้นทุนของประเทศที่ประชาชนต้องจ่ายในที่สุด

แม้เราจะมาทีหลัง ไม่ได้แปลว่า เราจะก้าวข้าม คนที่มาก่อนไม่ได้ ทุกครั้งที่เกิดคลื่นกระแสเทคโนโลยีใหม่ คือ โอกาสของการ “กระโดดข้าม” ไปข้างหน้า ขณะนี้ เทคโนโลยีใหม่อย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” หากนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของภาครัฐ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับประชาชนได้

การแก้ปัญหาด้วย “นวัตกรรม” แล้วนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ คือความท้าทาย อย่างที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมาแล้วจากภาคการเงิน ที่มีการพัฒนาระบบชำระเงินที่ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

รัฐบาลดิจิทัล (15) : “ป้าย”ต่อไป...รัฐบาลดิจิทัล

งานง่าย ทำได้ ถือว่า “โชคดี” งานยาก ทำได้ ถือว่า “เก่ง” งานยาก ไม่แน่ใจว่าทำได้ ถือว่า “กล้า” งานยากแทบจะเป็นไปไม่ได้แต่ยังไม่เลิกทำ ถือว่า “เป็นคนจริง” อย่างเช่นหลาย ๆ

คนที่ยังทำงานอยู่ในภาครัฐขณะนี้ ซึ่งก็คือกลุ่มเป้าหมายที่ผมอยากจะ “อุทิศ” บทความชุดนี้ให้ เพราะถึงยังไม่เห็นความสำเร็จอันใกล้แต่ก็ยังทำต่อไป เพื่อให้อนาคตของประเทศดีขึ้นกว่าเดิมแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

เพื่อนคนหนึ่งบอกผมว่า บทความชุดนี้ควรจะมี 16 ตอนเหมือนซีรีส์หนังเกาหลี ถ้าอย่างนั้น ผมขอฝากตอนที่ 16 ไว้ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทุกคนช่วยกันเขียนเติมให้ภาพของรัฐบาลดิจิทัลสำเร็จสมบูรณ์ จบแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” ร่วมกันก็แล้วกันนะครับ.